ผู้ว่าประจวบฯสั่งเร่งแก้ปัญหาช้างทำร้าย”ตาพล”เสียชีวิตที่ “บ้านหุบปลากั้ง”
ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องหาทางแก้ปัญหาช้างป่าทำร้ายชาวบ้าน”หุบปลากั้ง”เป็นรายที่ 3 ในรอบปีนี้ โดยล่าสุดรองผู้ว่าฯประจวบฯพร้อม ทสจ. อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อุทยานฯแก่งกระจาน ลงพื้นที่บ้านหุบปลากั้ง พร้อมถกปัญหาและสรุป ต้องปรับพื้นที่จุด”เขาหุบปลากั้ง” ซึ่งปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของโขลงช้างป่าส่วนหนึ่ง โดยต้องเร่งสางพื้นที่พุ่มไม้ และป่าที่รกทึบให้เป็นป่าโปร่ง และบริเวณ2ข้างทางให้ชาวบ้านสามารถเห็นช้างป่าระยะไกลได้ รวมทั้งเมื่อปรับพื้นที่จุดนี้แล้ว เชื่อว่าช้างป่าจะเคลื่อนตัวกลับเข้าสู่ป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอีกด้าน โดยก่อนดำเนินการทางอุทยานฯจะใช้อากาศยานบินสำรวจก่อน ซึ่งคาดว่าสัปดาห์น้าจะเริ่มเข้าปรับพื้นที่ เนื่องจากชาวบ้านมีความหวาดกลัวอย่างมาก ทำให้พอพลบค่ำจนถึงรุ่งเช้ามืด จะไม่มีใครกล้าออกจากหมู่บ้านหากไม่มีความจำเป็น
ที่ห้องประชุม อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ (วันที่ 24 สิงหาคม 2565 )นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้สั่งการให้ นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รอง.ผวจ.ประจวบฯ เป็นประธานการประชุมการหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ เร่งด่วนเนื่องจากเกิดกรณีช้างป่าแก่งกระจาน ที่อาศัยหากินอยู่บริเวณหมู่ 5 บ้านหุบปลากั้ง ได้ทำร้ายชาวบ้านจนเสียชีวิตในช่วงกลางคืน ซึ่งในรอบปีหมู่บ้านแห่งนี้ มีชาวบ้านถูกช้างป่าทำร้ายเสียชีวิตมา 3 รายแล้ว และทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความหวาดกลัวและเกรงไม่ปลอดภัยในการสัญจร จึงเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร่งด่วน จึงสั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องจัดประชุมลงพื้นที่ดูสภาพของ”บ้านหุบปลากั้ง”ว่าสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร เพื่อเร่งหาแนวทางป้องกันแก้ปัญหาดังกล่าว
โดยวันนี้มอบหมายให้นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รอง.ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมการหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ โดยมีนายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผอ.ทสจ.ประจวบฯ ,นายวัชระ กำพร นายกอบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ศูนย์ประสานงานโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ฯกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ห้วยสัตว์ใหญ่ ปลัดอำเภอหัวหิน สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(wcs)ประเทศไทย คณะกรรมการแก้ไขปัญหาช้างป่า เข้าร่วมประชุมและลงพื้นที่บริเวณบ้านหุบปลากั้ง ซึ่งเป็นจุดที่ช้างป่าอาศัยอยู่เกิดเหตุทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิต ณ ปัจจุบัน 3 ราย
นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รอง.ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่บริเวณพิกัด”บ้านหุบปลากั้ง” ซึ่งข้อมูลพบว่าบริเวณนี้มีโขลงช้างป่า อาศัยยู่ทั้งฝั่ง”เขาหุบปลากั้ง” และฝั่งเขาของป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งบริเวณเขาลูกดังกล่าว ทาง อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ และชาวบ้านแจ้งว่า เป็นที่อยู่อาศัยของโขลงช้างป่า กลางวันหลบอยู่ในนี้ส่วนกลางคืนลงมาหากิน บริเวณริมถนน 2 ข้างทางเข้าหมู่บ้าน และเป็นจุดอับ ถึงแม้จะมีไฟตามทางก็ตาม แต่โอกาสชาวบ้านที่ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ออกมาหรือเดินในเวลาค่ำคืน ก็อาจเจอช้างป่าในระยะกระชั้นชิด ดังนั้นในที่ประชุมลงความเห็นว่า 1.จุดนี้ต้องทำการปรับพื้นที่บนเขาดังกล่าวซึ่งมีพุ่มไม้ต้นไม้ขนาดเล็ก ให้มองดูโปร่งเพื่อไม่ให้ช้างเข้ามาอาศัยอยู่ โดยหากปรับแล้วทางอุทยานฯแก่งกระจาน เชื่อว่าช้างน่าจะเคลื่อนที่กลับเข้าช่องทางเดิมป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อีกด้านหนึ่งเข้าไป 2.ให้ทางอุทยานแห่งชาติใช้อากาศยานไร้คนขับบินสำรวจพื้นที่ 3 จุดที่พบว่ามีโขลงช้างป่าอาศัยอยู่ในบริเวณ บ้านหุบปากั้ง ทั้งบริเวณเขาหุบปลากั้ง บริเวณหลังวัดป่าเฉลิมพร และทางเข้าอ่างหุบปลากั้ง ก่อนเข้าดำเนินการปรับสางพื้นที่ โดยจะสรุปแผนการเข้าดำเนินการเร่งด่วยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับทราบในวันพรุ่งนี้
รวมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่รับผิดชอบติดตามดูกล้องซีซีทีวี ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆเพื่อจะได้ทราบว่ามีช้างป่าเข้ามาหมู่บ้าน ต้องติดตามตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งเครือข่ายไปยัง 11 หมู่บ้านที่ตั้งขึ้นทั้งแจ้งผ่านทางโทรศัพท์ และระบบกลุ่มไลน์ให้ ตชด.ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชรบ.อบต. ได้แจ้งเตือนให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับทราบต่อ เพื่อระวังกัน ถือว่าเป็นเป็นส่วนสำคัญลดการสูญเสียทั้งทรัพย์สิน และพืชไร่ ชีวิต และสิ่งสำคัญคือไม่อยากให้เกิดกรณีช้างป่าทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิตขึ้นอีก
ด้านนายวัชระ กำพร นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาช้างป่าทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิต สร้างความหวดกลัวให้กับชาวบ้านหุบปลากั้งเป็นอย่างมาก โดยบริเวณรอบหมู่บ้านหุบปลากั้ง จากข้อมูลพบว่าเป็นที่อยู่อาศัยของโขลงช้างป่าแก่งกระจาน ที่มาอาศัยหากินอยู่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากมีความสมบูรณ์ทั้งอาหาร และแหล่งน้ำ โดยช้างป่าจะออกมาจากแนวป่าเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และออกมาในช่วงกลางคืนเข้ามาหากินในพื้นที่บ้านหุบปลากั้ง และจะกลับเข้าป่าไปเป็นลักษณะเช่นนี้ และหมู่บ้านหุบปลากั้งต้องบอกว่าเป็นจุด”อันตรายหรือจุดเสี่ยง” ดังนั้นจึงต้องร่วมกันบูรณาการป้องกันในพื้นที่จุดนี้เป็นจุดแรก ซึ่งทั้ง อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และหน่วยงานต่างๆมีความพร้อมอยู่แล้ว
ป้ากำพร้า หุ่นชื่น อายุ 66 ปี ชาวบ้านหุบปลากั้งยอมรับว่าชาวบ้านในนี้เกิดความหวาดกลัวอย่างมาก กับปัญหาช้างป่าที่นับวันมีการสูญเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในบริเวณ หุบปลากั้ง แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเนื่องจากมีบ้านพักอาศัย ทำพืชผลทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์อยู่ที่นี่มานานมากแล้ว ซึ่งจุดที่”ตาพล”เสียชีวิตล่าสุดจุดนั้นช้างป่าก็ออกเยอะ เมื่อคืนก็ส่งเสียงร้องกัน ชาวบ้านก็ไม่ค่อยได้นอนกันต้องเฝ้าไร่และทรัพย์สินกัน บางวัน 6 โมงเช้าถึง 7 โมงเช้า ช้างยังเดินอยู่บนถนน เด็กๆไปโรงเรียนพ่อ แม่ก็ต้องตามไปส่งไปรับกัน ปัญหาช้างป่านานมาแล้วก็ยังแก้ไม่ได้ กลายเป็น”หุบปลากั้ง”กาลเป็นถิ่นที่อยู่ของโขลงช้างที่เข้ามาไปแล้วในปัจจุบัน โดย”ตาพล”ที่ถูกช้างป่าทำร้ายจนเสียชีวิต เมื่อ 4 ปีที่แล้วก็ถูกช้างป่าทำร้าย จนขาแขนหักมาแล้ว มาครั้งนี้ชาวบ้านทุกคนรู้สึกสงสารแกมากที่ต้องมาเสียชีวิตเพราะช้างป่า
อย่าลืม!!!
ติดตามข่าวสารจาก Face book : Prachuppost Newspaper
📌กดติดดาว ⭐️ เพจ …จะได้ไม่พลาดโพสต์ของเรา…ได้ที่นี่
***กดเข้ากลุ่ม 👨👩👧👦 กับ ประจวบโพสต์นิวส์ ได้ที่นี่
ติดตาม #ประจวบโพสต์นิวส์ #Prachuppostnews ได้ใน
Website: http://www.prachuppostnews.com/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCXnxGL0eeJZsm6vNRqaSUVA…
Twitter: https://twitter.com/prachuppostnews
IG : www.instagram.com/ prachuppostnews