นักศึกษา ปรม. รุ่น 23 พลิกวิกฤตปลาหมอคางดำ ผลิตข้าวเกรียบใจบุญ ลดเหลื่อมล้ำสร้างรายได้ให้ชุมชน

ติดตามข่าว ประจวบโพสต์
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

นักศึกษาโครงงานกลุ่มเชิงปฏิบัติการของหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ปรม.) รุ่นที่ 23 สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.2567 พลิกวิกฤตปลาหมอคางดำ แปรรูปสินค้าสู่ข้าวเกรียบใจบุญ ต่อยอดธุรกิจร่วมกับวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก จ.สมุทรสงคราม หวังสร้างรายได้ให้ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

 นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า หลักสูตรการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน ของสถาบันพระปกเกล้า มีพันธกิจ คือ การอบรมผู้นำหรือนักศึกษาที่มีศักยภาพ โดยเป็นข้าราชการระดับซี 9 ขึ้นไป หรือเป็นผู้บริหารขององค์กรทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ให้มีความรู้ ทักษะและความสามารถที่จำเป็นของการเป็นผู้นำในด้านการเสนอแนะนโยบาย และการนำนโยบายไปปฏิบัติ ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวนักศึกษาจะมีการนำเสนอโครงงานกลุ่มเชิงปฏิบัติการของหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง โดยเน้นให้นักศึกษาทำโครงงานโดยการลงพื้นที่จริง เพื่อทำงานที่เป็นประโยชน์กับภาคสังคมอย่างแท้จริง และที่สำคัญคือเป็นโอกาสที่ผู้บริหารทั้งหมดมีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ใช้เครือข่ายที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อภาคประชาสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยในด้านรายได้ การศึกษา เป็นต้น

 “ดังเช่นนักศึกษาโครงงานกลุ่มเชิงปฏิบัติการของหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ปรม.) รุ่นที่ 23 ที่ได้รวมตัวกันนำเสนอโครงงานการพลิกวิกฤตปลาหมอคางดำ โดยการจับมือพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบใจบุญจากปลาหมอคางดำร่วมกับท้องถิ่น คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก จังหวัดสมุทรสงคราม นำองค์ความรู้เรื่องการแปรรูป วางแผนการผลิต ออกแบบผลิตภัณฑ์ วางแผนการตลาดถ่ายทอดสู่กลุ่ม ฯ  สามารถนำปัจจัยที่เป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อม และกระทบต่อเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศอย่างปลาหมอคางดำแปรเปลี่ยนเป็นรายได้ให้ชุมชน และชุมชนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดไปต่อยอดเป็นอาชีพอื่น ๆ ได้อีก ช่วยสร้างรายได้ต่อตนเองและท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน สมดังเจตนาของสถาบันพระปกเกล้าด้านการสร้างโอกาส เพิ่มศักยภาพให้ภาคประชาสังคม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ช่วยให้สังคมอยู่ดีมีสุขมากยิ่งขึ้น ก่อเกิดประโยชน์ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ากล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการหลักสูตร ปรม. และที่ปรึกษาโครงการ ฯ กล่าวว่า นักศึกษา ปรม. รุ่นที่ 23 สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.2567 ได้ศึกษาสถานภาพปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และทำความเข้าใจปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนนอก ที่จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและเพื่อเข้าถึงปัญหาความเดือดร้อนที่แท้จริง ทำความร่วมมือกับทั้งภาคเอกชน เครือข่ายภาครัฐอย่างมีธรรมาภิบาล จึงพบว่า การป้องกันและการแก้ไขปัญหาไม่สามารถทำได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งการสร้างเครือข่ายผนึกกำลัง พลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยใช้แนวคิดการแปรรูปปลาหมอคางดำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จะเป็นหนทางการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพยั่งยืนที่สุด เนื่องจากชุมชนจะได้ผลิตภัณฑ์ที่นำไปจำหน่าย หรือนำไปบริโภคเอง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาปากท้อง สร้างรายได้ให้กับประชาชนได้รวดเร็วที่สุด

 “นักศึกษามีกระบวนการทำงานในเรื่องนี้อย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่เทคโนโลยีการแปรรูปที่ถูกสุขอนามัย การทดสอบคุณภาพของเนื้อปลา การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การคำนวณต้นทุน การวางแผนธุรกิจ การวางแผนการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าออนไลน์ จนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบใจบุญ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัย ชุมชนสามารถนำไปต่อยอดปฏิบัติได้เองจริง นอกจากช่วยบรรเทาปัญหาความเดือนร้อนเรื่องการแพร่ระบาดแล้วยังสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก นับว่าเป็นการพลิกวิกฤตปลาหมอคางดำให้เป็นโอกาสอย่างแท้จริง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัณรส กล่าว

 ผอ.หลักสูตร ปรม. และที่ปรึกษาโครงการ ฯ กล่าวสรุปว่า การปฏิบัติงานในโครงงาน ฯ ที่กล่าวถึงข้างต้น ช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความเป็นพลเมือง โดยส่งเสริมการร่วมคิดร่วมทำ เสริมสร้างศักยภาพที่จะพัฒนาธุรกิจแปรรูปให้กับชุมชน ด้านประชาธิปไตย โดยการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล และตัดสินใจร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อบริหารจัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภายใต้ความเป็นประชาธิปไตย และ ด้านธรรมาภิบาล โดยกำหนดนโยบายและการบริหารภาครัฐในการบริหารความเสี่ยงจากกิจกรรมที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ มีระบบบริหารจัดการในการป้องกัน แก้ไข บำบัด ฟื้นฟู ที่ตรวจสอบได้ และทุกภาคส่วนได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน ทำให้วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่มีความความรับผิดชอบต่องานที่ทำอย่างจริงจัง

 “คาดหวังว่าการสร้างเครือข่ายของผู้ที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาชุมชน จะทำให้ท้องถิ่นมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เพื่อต่อยอดให้สังคมดีขึ้นด้วย”