BEDO จับมือ2 สถาบัน เดินหน้าขับเคลื่อนแผนแม่บท พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกระแสใหม่อย่างยั่งยืน

ติดตามข่าว ประจวบโพสต์
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

BEDO ม.บูรพา ม.สวนสุนันทา จับมือสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวกระแสใหม่ ภายใต้โครงการบูรณาการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ มุ่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสีเขียวอย่างยั่งยืน นำร่อง 3 อำเภอ ใน จังหวัดประจวบฯคีรีขันธ์ เพิ่มขีดความสามารถด้านท่องเที่ยวให้ชุมชนควบคู่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แท้จริง

นายปรีดา สุขใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 ได้อนุมัติให้สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ดำเนินการตามข้อนำเสนอของกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการบูรณาการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรอบระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2566-2569 ทำการศึกษานำร่องที่ จ.ประจวบฯ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความแตกต่างหลากหลายทางภูมิประเทศและภูมินิเวศน์ ในการนี้จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นที่ปรึกษาโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวภาพอย่างยั่งยืน และมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนเพื่อความเข้มแข็งด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนาแผนการจัดการผู้เยี่ยมชมตามเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพในพื้นที่ จ.ประจวบฯ 

“ผลจากการดำเนินการได้ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาตามแผนแม่บทการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าวก่อให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชน สร้างความสมดุลระหว่างส่งเสริมการท่องเที่ยวและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เสริมสร้างความเข้มแข็งและความพร้อมในการปรับตัวในทุกสถานการณ์ให้กับชุมชนและสังคม ซึ่งความร่วมมือกันของภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้การพัฒนาการท่องเที่ยวประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและก่อให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ผลลัพธ์จากโครงการ ฯ จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการขยายผลสู่จังหวัดใกล้เคียงให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ จนกระทั่งถึงระดับประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต” รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าว

นายราชัย ชลสินธุ์สงครามชัย ผู้จัดการโครงการบูรณาการการท่องเที่ยว ฯ BEDO กล่าวว่า เนื่องด้วยจังหวัดประจวบ ฯ มีความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวคือ มีทั้งทะเล ภูเขา อีกทั้งพืชพรรณ สัตว์ป่านานาชนิด ดังนั้น BEDO และจ.ประจวบฯ จึงได้ร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนซึ่งเป็นทิศทางการท่องเที่ยวแบบใหม่ของโลก โดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในจังหวัดผ่านโครงการฯ ดังกล่าว มีการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ ทั้งในประเด็นความต้องการของชุมชน พื้นฐานทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในการท่องเที่ยว เพื่อนำไปสู่การออกแบบกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัด ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม รวมถึงความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว 

ขณะนี้เราได้ดำเนินการขึ้นสู่ปีที่ 3 “พื้นที่ทำการศึกษานำร่อง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด และพื้นที่บริเวณหาดน้ำปราณบุรีต่อเนื่องไปจนถึงวณอุทยานปราณบุรี อ.ปราณบุรี พบว่าชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง มีความพร้อมที่จะรับและเรียนรู้แนวความคิดใหม่ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เพื่อเป็นโอกาสเพิ่มรายได้ให้ชุมชนจากจากช่องทางต่างๆเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจากนี้อีกสองปีจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใน จ.ประจวบ ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะขยายต่อไปยังพื้นที่อีก 5 อำเภอในจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียงอย่างเพชรบุรีและชุมพรอีกด้วย และเชื่อว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพนี้ จะต้นแบบและเป็นกระแสได้รับความสนใจโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวได้เที่ยวและได้ร่วมส่งเสริมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไปพร้อมกัน” นายราชัย กล่าว

ผศ.ดร.ปริญญา นาคปฐม รองอธิการมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า แผนแม่บทการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนที่ ม.บูรพาได้จัดทำขึ้นได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมประกอบไปด้วย 8 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การบริหารจัดการองค์กร , ประสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ , การเพิ่มศักยภาพบุคลากรในบริบทการท่องเที่ยวบนความหลากหลายทางชีวภาพ , การพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ , การรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลาบทางชีวภาพ , การสร้างความพร้อมของพื้นที่เพื่อให้บริการการท่องเที่ยวบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ , การส่งเสริมผลิตภัณฑ์และการให้บริการการท่องเที่ยวชุมชนบนพื้นฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน และ การสร่งเสริมการตลาดเชิงรุกที่หลากหลาย มีความสร้างสรรค์  ทั้งนี้ หน่วยงานเกี่ยวข้อง ชุมชนท่องเที่ยว รวมไปถึงผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถนำทั้ง 8 ยุทธศาสตร์ ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้ตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ผศ.ดร.กันยพัชร์ ธนกุลวุฒิโรจน์ ผู้จัดการโครงการ ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า ม.ราชภัฏสวนสุนันทาได้จัดอบรมให้ความรู้ชุมชนในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวโดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นผลิตจนถึงออกสู่ตลาด โดยเน้นให้เกิดความยั่งยืนเป็นสำคัญ กล่าวคือ สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด คิดแก้ไขปัญหา พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตัวเองแม้เจอสภาพความเปลี่ยนแปลงโดยที่ยังสามารถอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ได้ทั้งในรุ่นนี้และรุ่นลูกหลานในอนาคต

“จากการดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถ ให้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่นำร่องทั้ง 3 อำเภอ ชุมชนเกิดความมั่นใจในศักยภาพของตนมากขึ้น ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชัดเจน จากเดิมที่ทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเดิมและภายหลังเมื่อเขาได้รับองค์ความรู้ ยกตัวอย่าง พืชตะไคร้ ที่แต่เดิมปลูกเป็นพืชบริโภคทั่วไป เมื่อได้รับองค์ความรู้ในการนำสารสกัดจากตะไคร้หอมมาปรับให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์แผ่นแปะกันยุงในที่สุด หรือผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งคนอยู่ร่วมกับช้าง ที่สามารถเก็บน้ำผึ้งโดยไม่ต้องทำลายรวงผึ้งและยังช่วยสร้างแนวป้องกันช้างป่าไม่ให้บุกรุกเข้าทำความเสียหายให้บ้านเรือน เรือกสวนไร่นา หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด บ้านนาปุ่ม ที่พัฒนาจนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้นักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลายจากการท่องเที่ยว และยังสร้างรายได้จากกิจกรรมหลายหลากให้ชุมชนด้วย เป็นต้น

กล่าวได้ว่า ชุมชนเริ่มมีโอกาสที่จะมีรายได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นจากการทำงานเชิงอนุรักษ์ขณะเดียวกันพื้นที่อนุรักษ์ก็สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนกลับคืนไปด้วย ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการท่องเที่ยวสมัยใหม่ ม.ราชภัฏสวนสุนันทามีความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในทิศทางที่ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเศรษฐกิจระดับชุมชนเข้มแข็งก็จะเสริมความเข้มแข็งให้จังหวัดในที่สุด” ผู้จัดการโครงการ ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวในตอนท้าย