หาชมยาก….ฝูงลิงแสมที่เกาะโครำสามร้อยยอด ต้องใช้ก้อนหินทุบหอยกินประทังชีวิต
หาชมยาก….ฝูงลิงแสมที่เกาะโครำสามร้อยยอด ต้องใช้ก้อนหินทุบหอยกินประทังชีวิต
ฝูงลิงแสมบนเกาะโครำ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เมื่อพวกมันต้องใช้ก้อนหินทุบหอยนางรมที่เกาะอยู่ตามโขดหิน เมื่อยามน้ำลงหอยที่เกาะอยู่ตามโขดหินโผล่ พวกมันจะอาศัยจังหวะนี้เองพากันลงจากภูเขามาทุบหอยกินเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอด ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรม และการเรียนรู้ของพวกมันที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนปัจจุบันนี้ ที่สำคัญพบเพียง 1 ใน 2 แห่งของประเทศเท่านั้น
8 มิถุนายน 2561 เกาะโครำ เป็นเกาะที่ทอดตัวยาวมีลักษณะคล้ายคนนอนตะแครง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายหาดสามร้อยยอดมากนัก อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณของชายหาดบนเกาะโครำนอกจากมีหาดทรายบางส่วนแล้ว ยังมีหาดที่มีลักษณะเป็นโขดหินน้อยใหญ่ โผล่เรียงรายให้เห็นเป็นจำนวนมากยิ่งในเวลาที่น้ำทะเลลง ยิ่งพบเห็นได้ชัด ส่วนด้านบนมีลักษณะเป็นภูเขาและมีป่าไม้ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์เขียวขจี สิ่งสำคัญที่เกาะโครำแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงแสมราว 100 ตัว ซึ่งเชื่อกันว่าอาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้มานานถึง 50 ปี
นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวว่าลิงแสมเดิมทีน่าจะอาศัยอยู่บนชายฝั่งสามร้อยยอด จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ ซึ่งเชื่อว่าลิงแสมส่วนหนึ่งว่ายน้ำข้ามมาที่เกาะโครำแห่งนี้เพียงไม่กี่ตัว และได้มาผสมพันธุ์จนออกลูกจนทำให้ในปัจจุบันนี้พบว่าจากข้อมูลของนักวิชาการ ที่เดินทางมาสำรวจบนเกาะพบว่ามีฝูงลิงแสมอาศัยอยู่ประมาณ 80 ตัวในพระหว่าปี พ.ศ.2558-2559 เนื่องจากในแต่ละปีเฉลี่ยมีลูกเกิดใหม่เฉลี่ยปีละเกือบ 20 ตัว จนทำให้ปัจจุบันนี้น่าจะมีอยู่ราวงประมาณ 100 ตัวเห็นจะได้ โดยเฉพาะฝูงลิงแสมที่นี่ก็ได้อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้อย่างถาวร โดยไม่มีการพบว่าว่ายน้ำกลับไปยังชายฝั่งสามร้อยยอดแต่อย่างใด มีเพียง 2-3 ตัวเท่านั้นที่ว่ายไปยังเกาะนมสาว และอาศัยอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบันนี้
นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เล่าอีกว่าฝูงลิงแสมที่ดำรงชีวิตอยู่บนเกาะโครำแห่งนี้ พวกมันมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากลิงที่อาศัยอยู่บนฝั่งอย่างเห็นเด่นชัดและลักษณะพิเศษ ของพวกมันจะอาศัยเวลาที่น้ำทะเลลง จะทำให้โขดหินใหญ่น้อยโผล่ขึ้นมาเรียงรายให้เห็น และตามโขดหินนั่นเองก็มีหอยนางรมธรรมชาติที่เกาะอยู่ตามโขดหินโผล่ขึ้นมาด้วย ทำให้ฝูงลิงแสมที่นี่ใช้ก้อนหิน ทุบเปลือกหอยนางรมให้หลุดออกหลังจากนั้นก็จะใช้เล็บของมันควักหอยนางรมที่อยู่ในฝาออกมากิน ซึ่งถือว่าเป็นการดำรงชีวิตอย่างหนึ่งโดยทุกตัวก็จะทำแบเดียวกันทั้งหมด นอกจากนั้นบางส่วนก็จะขุดหาหอยที่ฝังอยู่ใต้ก้อนหินเมื่อเจอก็จะหยิบขึ้นมาและนำหอยมาทุกกับโขดหินจนเปลือกหอยแตกและก็จะควักเนื้อมากินเช่นกัน
ในขณะที่บนภูเขาก็ยังมีพวกผลไม้ป่าและใบไม้ ให้พวกมันได้กินเลี้ยงด้วยเช่นกัน โดยที่ฝูงลิงแสมที่เกาะโครำไม่ได้สร้างความเดือดร้อนไม่ได้อดอาหาร เฉกเช่นลิงแสมที่อยู่บนฝั่งแต่อย่างใด ซึ่งบางครั้งก็จะมีนักท่องเที่ยวมากับเรือประมงมาดูฝูงลิงแสมที่เกาะโครำด้วยเช่นกัน โดยทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการให้ได้รับทราบว่าห้ามมิให้นำอาหารใดๆและผลไม้มาให้ฝูงลิงเพราะจะได้ไม่คิดเป็นนิสัยและลิงที่นี่ก็มีอาหารที่เพียงพออยู่แล้วอีกทั้งยังมีการดำรงชีพในการหากินตามวัฒนธรรมของพวกมัน เพียงแต่นักท่องเที่ยวที่มาสามารถนำน้ำจืดมาใส่ไว้ในภาชนะที่ทางอุทยานแห่งชาติฯ ทำไว้ให้ฝูงลิงได้ใช่ในช่วงหน้าแล้ง หากปีใดประสบภัยแล้งหนักๆทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯก็จะนำน้ำจืดจากฝั่งมาเติมให้ตลอดเวลา โยจะมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ คอยเดินทางมาสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
ซึ่งการทุบหอยนางรมถือเป็นวัฒนธรรมที่มีการสืบทอดและเรียนรู้จากรุ่นต่อรุ่นมาจนปัจจุบันนี้ จนกลายเป็นวัฒนธรรมของฝูงลิงแสมที่เกาะโครำแห่งนี้ ซึ่งในประเทศไทยพบเพียง 2 แห่งเท่านั้นคือที่เกาะโครำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมสน จ.ระนอง เท่านั้น
นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ หน.อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
ภาพ/ประจวบโพสต์นิวส์