เขื่อนแก่งกระจาน-เขื่อนเพชร!! เร่งระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรี และทำกาลักน้ำเพิ่มเติม

ติดตามข่าว ประจวบโพสต์
  • 44
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
    44
    Shares

เขื่อนแก่งกระจาน-เขื่อนเพชร!! เร่งระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรี และทำกาลักน้ำเพิ่มเติม

ตามที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี แจ้งว่าในวันที่ 29 กรกฎาคม 2561 เขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำ 653.844 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 90.68 % ได้เพิ่มการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานและเขื่อนเพชรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชรอาจเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำและสิ่งก่อสร้างที่อยู่ต่ำกว่าตลิ่ง แต่ปริมาณน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเพชรจนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรียังคงต่ำกว่าตลิ่ง  เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในจังหวัดเพชรบุรี

วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบุรี   จัดการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเกตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินถล่มจังหวัดเพชรบุรี ปี 2561 โดยมีนางฉัตรพร  ราษฎร์ดุษดี  ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีเป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ,พลตรีสุรินทร์  นิลเหลือง ผบ.มทบ.15 และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี(หลังเก่า) ชั้น 1

นายสันต์  จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี ได้ให้ข้อมูลว่าในปีนี้มีปริมาณน้ำฝนที่ตกเหนือเขื่อนแก่งกระจานเป็นปริมาณมาก จากเหตุ 3 ปัจจัย คือ 1.พายุเซินติญที่เข้ามาทางเวียตนาม ส่งผลต่อปริมาณฝนในทางเหนือและอีสานของไทย  2. ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มาทางทะเลอันดามัน 3.ร่องความกดอากาศต่ำที่พาดจากตะวันตกไปตะวันออก ทั้ง 3 ปัจจัยมารวมกันทำให้เกิดฝนมากจนทำให้อำเภอตะนาวศรีในพม่าน้ำท่วมมากในรอบ 40 ปี เขื่อนเซเปียนในลาวซึ่งเป็นส่วนของเขื่อนดินปิดช่องเขาขาดที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างพังเพราะกระแสน้ำ

สำหรับเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม มีน้ำไหลลงเขื่อน 110 ล้านลูกบาศก์เมตร  วันที่ 20 กรกฎาคมมีน้ำไหลลงเขื่อน 170 ล้านลูกบาศก์เมตร  ปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานเมื่อปี 2560 มีปริมาณน้ำ 40 % ขณะนี้ปริมาณน้ำ 646.322 ล้านลูกบาศก์เมตร   คิดเป็น 91.45 %  ขณะนี้เขื่อนแก่งกระจานเปิดประตูระบายน้ำเต็มตลอดทั้งบาน ระบายน้ำได้ 103 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที   นอกจากนี้ยังทำกาลักน้ำเพิ่มท่อ 10 ท่อเพื่อระบายน้ำเพิ่มเติมจากการเปิดประตูระบายน้ำเต็มบานอีกด้วย

ที่ประชุมได้เสนอข้อคิดเห็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีได้ขอให้ประสานกับกองทัพเรือเรื่องเครื่องผลักดันน้ำไว้ในเบื้องต้น และให้ทางผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบจุดที่สามารถตั่งเครื่องผลักดันน้ำเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาว่ายังสามารถติดตั้ง ณ ที่เดิมได้หรือไม่

สำหรับการขุดลอกคูคลองทั้งผักตบชวา ที่ขีดขวางทางน้ำและทำให้คูคลองที่ตื้นเขินมีความจุเพิ่มมากขึ้น ต้องทำในหน้าแล้ง เพราะหน้าฝนน้ำมากไม่สามารถเห็นดินในคลองได้  นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงพื้นที่ทิ้งดินด้วย ที่ประชุมเห็นว่าถ้าเป็นคูคลองในพื้นที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ แต่หากเป็นคลองชลประทาน ให้ทางโครงการชลประทานรับผิดชอบ

สำหรับความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคารเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนเพชรนั้น ขอรับรองว่าตัวอาคารมีความมั่นคง  สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ทางอำเภอเมืองและอำเภอหนองหญ้าปล้องยังไม่มีผลกระทบ

นายอานนท์  พร้อมเพรียง  นายอำเภอท่ายาง  กล่าวว่าบริเวณเหนือเขื่อนเพชรน้ำท่วม  2 ตำบล ต.กลัดหลวง กับ ตำบลท่าไม้รวก ทั้งหมด  10 หมู่บ้าน ราษฎร์ได้รับผลกระทบทั้งหมด 23 ราย วัด 1 แห่ง เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ส่วนใต้เขื่อนเพชรยังไม่ได้รับผลกระทบ

ส่วนที่แก่งกระจาน ส่วนใหญ่จะกระทบเฉพาะที่มีพื้นที่ติดริมตลิ่งลำน้ำ เพราะน้ำขณะนี้ไหลเชี่ยวได้ขอให้งดกิจกรรมทางน้ำ  หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อีก 2  เดือนอาจจะมีการผ่อนผันบ้างเพื่อประโยชน์ของการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามจากการที่มีปริมาณฝนจำนวนมาก  นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้ขอให้พื้นที่ที่มีความเสี่ยงดินริมตลิ่งถล่มให้ระมัดระวังและตรวจสอบความเสี่ยงด้วย   นอกจากนั้นในที่ประชุมยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการสื่อสารให้ประชาชนทราบและเข้าใจสถานการณ์โดยใช้ภาษาที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย หากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมก็ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม

ขณะเดียวกันนางฉัตรพร  ราษฎรดุษดี  ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่าในขณะนี้จากการระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน103 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังสามารถรับสถานการณ์ได้อยู่ถ้าไม่มีพายุเข้ามาเสริม อีกไม่กี่เปอร์เซ็นระดับน้ำก็จะมีปริมาณสูงขึ้นจนล้นสปิลเวย์ ผลที่ตามมาคือระดับน้ำจะสูงขึ้นแต่ยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง ถ้าฝนไม่ตกเพิ่มโดยต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการลดระดับน้ำโดยการพร่องน้ำให้อยู่ในระดับสมดุลที่ 70 %  ขอให้ทุกส่วนทำตามหน้าที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจพื้นที่และหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ

ข่าว/ ภาพ   นสพ.เพชรบุรีโพสต์

ประจวบโสต์นิวส์ / Prachuppostnews

  • 44
    Shares