“อาคารพระยาญาณประกาศ” ไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กทม.ยัน บูรณะได้!!
“อาคารพระยาญาณประกาศ” ไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กทม.ยัน บูรณะได้!!
ความคืบหน้าการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ภายในป้อมมหากาฬ ล่าสุด กรุงเทพมหานครได้บูรณะอาคารพระยาญาณประกาศ ท่าเรือเก่าสำหรับเจ้านายและขุนนางสมัยรัชกาลที่ 6 โดยได้ทำความสะอาดและทาสีขาวบริเวณผนังทั้งด้านนอกและด้านใน ซึ่งการบูรณะด้วยวิธีการดังกล่าว นักวิชาการบางกลุ่มมองว่า กทม.จะต้องหารือกับกรมศิลปากรก่อนหรือไม่
พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า กทม.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากอาคารดังกล่าวมีสภาพทรุดโทรม และไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยปี 2492 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวป้อมปราการและกำแพงป้อมเท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถบูรณะได้
ขณะที่ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่าการซ่อมแซมอาคารพระยาญาณประกาศนั้น กทม. ได้ดำเนินการทาสีและเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้คงสภาพเป็นอาคารโบราณรูปแบบเดิม ซึ่งการปรับปรุงภูมิทัศน์ชั่วคราวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน พร้อมยืนยันว่า กทม.ได้หารือกับกรมศิลปากรในการปรับปรุงโบราณสถานภายในป้อมมหากาฬ ส่วนอาคารพระยาญาณประกาศที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน การเข้าไปบำรุงรักษาให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรงสามารถทำได้
ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ อุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมืองและนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การบูรณะอาคารดังกล่าว ตามหลักแล้ว กทม.ต้องประสานกับกรมศิลปากรว่าจะบูรณะด้วยวิธีใด ต้องมีกระบวนการเก็บข้อมูล ประเมินสภาพ พิสูจน์สี และวัสดุ เนื่องจากอาคารดังกล่าวเสื่อมสภาพมาก ถูกทิ้งร้างมานาน เป็นไปไม่ได้ที่จะซ่อมอาคารแค่ผิว ต้องพิจารณาโครงสร้าง และเรื่องของความชื้นด้วย ไม่เช่นนั้น อีกไม่นานก็จะกลับมาเสื่อมสภาพเช่นเดิมหรือมากกว่าเดิม นอกจากนี้ การเปิดใช้เป็นอาคารนิทรรศการซึ่งถือเป็นการเปิดให้สาธารณะใช้งาน ต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัย สถานการณ์นี้มองว่ากรมศิลปากรต้องมีบทบาทต่อการกระทำของ กทม. เช่น ให้ยุติการบูรณะชั่วคราว
นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ไม่ได้ติดต่อมายังสำนักแต่อย่างใด จึงไม่ทราบว่าในขณะนี้มีการบูรณะอาคารดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักได้ส่งนักโบราณคดีลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อเตรียมนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว หากคณะกรรมการเห็นสมควรขึ้นทะเบียน จะนำไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือประกาศให้ผู้ครอบครอง ซึ่งในที่นี้เข้าใจว่าคือ กทม. รับทราบ
ทั้งนี้ อาคารพระยาญาณประกาศ มีลักษณะเป็นทรงยุโรปชั้นเดียว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2459 โดยมหาอำมาตย์ตรี พระยาญาณประกาศ สุจริตามาตย์ธรรมเสถียร (เลื่อน ศุภศิริวัฒน์) อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษ และพระยายืนชิงช้า สมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อใช้เป็นท่าเรือสำหรับเจ้านาย และข้าราชการที่จะเดินทางไปเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนัก วังสระปทุม ริมคลองแสนแสบ คู่อยู่กับท่าเรือชาวบ้าน คือ “ท่าเรือจางวางเอม” บริเวณสะพานผ่านฟ้า นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายคราวทอดพระเนตรการเล่นสักวาในคลองมหานาคช่วงงานภูเขาทอง กลางเดือน 12 วันลอยกระทงอีกด้วย
ประจวบโพสต์นิวส์ / Prachuppostnews