ประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ “วางซั้งกอสร้างบ้านปลา เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ”
ประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ “วางซั้งกอสร้างบ้านปลา เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ”
ประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณบุรี ยังคงเดินหน้าทำปะการังเทียม วางซั้งกอ แบบทางมะพร้าว แบบเชือก ภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างบ้านให้ปลา เพื่อการรักษาความมั่นคงทางอาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์ยั่งยืน ที่อ่าวปากน้ำปราณเป็นเวลา 9 ปี ติดต่อกัน
กิจกรรมการวางซั้งกอ สร้างบ้านให้ปลา ที่บริเวณชุมชนประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีนายธงชัย สุณาพันธ์ ปลัดเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ เป็นประธานเปิดโครงการฟื้นฟูอนุรักษ์แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำทางทะเล โดยมีนายเจือ แคใหญ่ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำการประมงปากน้ำปราณ นายสมเดช นาคดี ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ทะเลปากน้ำปราณ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชาวประมงพื้นบ้าน เทศบาลตำบลปากน้ำปราณ เอกชน และภาคประชาชน จำนวนหลายร้อยคน ซึ่งมีการจัดเป็นประจำทุกปี ปีนี้นับเป็นปีที่ 9 แล้ว เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ รณรงค์ให้ชุมชนตลอดจนผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบริหารจัดการรักษาทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง เพื่อสร้างความมีส่วนร่วม เป็นรักษาความมั่นคงทางอาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
อนึ่งการการวางซั้งกอ หรือบ้านปลา เป็นกิจกรรมที่ชุมชนให้การยอมรับว่า สามารถเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ สามารถป้องกันการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่จะรุกเข้ามาในเขตพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นที่หลบภัยสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ ซึ่งการวางซั้งกอจะแบ่งออกเป็นกอ กอละ 20 ต้น มีตำแหน่งการวางบริเวณน้ำตื้นใกล้ฝั่งเพื่อให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยมีการห้ามทำการประมง เช่นการปั่นไฟล่อ หรือล้อมจับสัตว์น้ำ บริเวณที่มีการวางซั้งกอ
นายสมเดช นาคดี ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ทะเลปากน้ำปราณ กล่าวว่าสำหรับตำแหน่งการวางซั้งกอ ของกลุ่มประมงเรือพื้นบ้านจะกำหนดวางในเขต 3000 เมตรจากชายฝั่งจากชายฝั่งตารมกฎหมายซึ่งเป็นแนวเขตที่ห้ามเรือคราดหอยลายเข้ามาทำในเขตดังกล่าว กานวางซั้งกอส่งผลทำให้สัตว์น้ำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และพบสัตว์น้ำที่ไม่เคยพบมาก่อนในบริเวณน้ำตื้น เช่นปลาข้างเหลือง หมึกตะเภา หมึกกระดองขนาดใหญ่ และปลาสาก ดังนั้นการทำซั้งกอจึงช่วยให้ชาวประมงมีรายได้มากขึ้น เป็นการรักษาภูมิปัญญาและสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน
การสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล ปะการังเทียม ที่ผ่านมาสามารถดึงดูด สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู และปลาหลายชนิดมาอยู่รวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาหน้าดิน เช่น ปลาที่อาศัยในแนวปะการังนานาชนิด ปลากะรังหลายชนิด ปลากะพงหลาย ชนิด เป็นต้น ส่งผลดีต่อระบบสายใยอาหารของสัตว์น้ำบริเวณหน้าดินเป็น
สำหรับการทำซั้ง ทำกันหลากหลายรูปแบบ บางพื้นที่ทำเป็นพุ่มลอยน้ำ บางแห่งใช้แหเก่า อวนเก่า ผูกกับไม้ไผ่ แล้วทิ้งลงทะเล ดังนั้น ส่วนประกอบหลักๆ ที่ขาดไม่ได้มีอยู่ 3 อย่าง คือ ไม้ไผ่ เชือก และถุงทราย หรือแท่งปูน และทางมะพร้าว ส่วนองค์ประกอบอื่นที่จะช่วยก่อรูปให้เป็นซั้งนั้น ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้นๆ ว่าจะเลือกใช้สิ่งใด แต่สำหรับชาวประมงเลือกใช้ “ทางมะพร้าว” เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อทิ้งลงทะเลแท่งปูนจมลงต้นไม้ไผ่ และทางมะพร้าวจะดิ่งจมลงใต้ทะเล และตั้งขึ้นเป็นต้นไม้ที่อยู่ใต้น้ำ
ด้านนายเจือ แคใหญ่ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำการประมงปากน้ำปราณ กล่าวว่า การทำซั้งกอสร้างบ้านให้ปลา สร้างแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ เพื่อให้สัตว์น้ำได้มาอยู่ ชาวประมงจะได้ไม่ต้องออกไปหากินไกลได้หากินหน้าบ้านตัวเอง จำนวนซั้งทั้งหมด 100 ต้น ไปวาง 4 กอ กอละ25 ต้น อุปกรณ์ก็จะมีทางมะพร้าว ไม้ไผ่ หินถ่วงน้ำหนัก 2 ก้อนสำหรับซั้งทางมะพร้าว ซั้งเชือกก็ต้องมีทุ่นดึงและก็เชือกคายเกลียวและหินถ่วงน้ำหนักจำนวน 1 ก้อน เพราะใช้ไม่เหมือนกันเพราะความต้านน้ำไม่เหมือนกัน ระยะทางที่จะออกไปวางซั้ง ประมาณ 3000 เมตร ก็เมื่อก่อนนี้กฎหมายประมงห้ามทำการประมงในเขต3000เมตรก็เลยเอาตรงนี้เป็นเกณฑ์
วันนี้จึงนับได้ว่ากลุ่มประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณบุรี อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการบริหารจัดการร่วมกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ให้สัตว์น้ำนานาชนิด คืนสู่ความสมบูรณ์อีกครั้ง
สมบัติ ลิมปจีระวงษ์ รายงาน
ประจวบโพสต์นิวส์ / prachuppostnews