ชาวสวนสุดช้ำ!!ช้างป่าละอูบุกสวนทุเรียน
ชาวสวนสุดช้ำ!!ช้างป่าละอูบุกสวนทุเรียน
ประจวบคีรีขันธ์ -ชาวสวนทุเรียนป่าละอู สุดท้อ ช้างป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานหลายตัว บุกเขย่าต้นทุเรียนอายุกว่ายี่สิบปีที่กำลังออกลูกใกล้เก็บส่งขาย คืนเดียวสอบรอบ ทุเรียนหล่นเสียหายเกลื่อนหลายร้อยลูก สูญรายได้กว่าสี่แสนบาท เจ้าของสวนเผย ช้างป่าบุกเข้ามาช่วงหัวค่ำจังหวะออกไปกินข้าว และกลับเข้ามาอีกรอบช่วงตีสาม ช่วยกันผลักดันนานกว่าครึ่งชั่วโมง วอนเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนช่วยชาวสวนช่วงฤดูกาลทุเรียน
วันที่ 10 มิถุนายน 2563 นางสุนันทา พิมฺพ์ไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ พร้อมด้วย พ.ต.ท.สุวิทย์ มณีวงษ์ ผู้บังคับกองร้อย กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายภายในสวนทุเรียน ป.ป่าละอู หมู่ 3 บ้านป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังได้รับแจ้งว่า เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 9 มิถุนายน และช่วงตีสามวันนี้(วันที่ 10 มิ.ย. 63) ช้างป่าภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อย่างน้อย 4 ตัว บุกเข้ามาทำลายต้นทุเรียน และกินผลทุเรียนเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยมี นายศิวกภณ รตนรุ่งเรือง เจ้าของสวน และ นายธีรพงษ์ ตีระศรี ลูกเขยซึ่งเป็นคนดูแลสวน นำเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน สำรวจความเสียหาย พบต้นทุเรียนพันธุ์หมอนทองอายุกว่า 20 ปี เกือบ 10 ต้น ซึ่งกำลังออกผลเต็มต้น เต็มเก็บเกี่ยวเพื่อนำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ได้รับความเสียหายจากช้างป่าที่บุกเข้ามา ใช้งวงเขย่าต้น เพื่อให้ลูกทุเรียนหล่นลงมา มีลูกทุเรียนที่ยังอ่อน และลูกทุเรียนแก่ที่พร้อมเก็บเกี่ยวหล่นกระจายเต็มพื้นหลายร้อยลูก โดยลูกที่แก่ หรือใกล้สุก ช้างป่าจะใช้เท้าเหยียบให้แตกเพื่อกินเนื้อทุเรียน บางลูกที่เหยียบแล้วไม่แตกก็จมดินลงไป มีรอยเท้าช้างป่าขนาดใหญ่อยู่รอบต้นทุเรียน หลายรอย บางรอยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 1 ฟุต นอกจากนี้ยังพบว่าช้างป่าใช้งวงดึงกิ่ง และต้นทุเรียนเสียหายอีกเป็นจำนวนมากด้วย
นายศิวกภณ รตนรุ่งเรือง เจ้าของสวนทุเรียน ป.ป่าละอู กล่าวว่า ในช่วงนี้ทุเรียนส่วนใหญ่เริ่มออกผล และแก่จัด ใกล้เก็บเกี่ยวออกจำหน่ายได้แล้ว โดยตนเองทราบดีว่า ช่วงนี้ช้างป่าจะได้กลิ่นทุเรียน และจะออกมาหากินทุเรียน ต้องเฝ้าระวังกันพิเศษ โดยสวนทุเรียนแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ได้ทำสัญญาณรั้วไฟฟ้าแรงต่ำไว้โดยรอบ และทำกระท่อมบนต้นไม้สูงประมาณ 6 เมตร ไว้เพื่อเฝ้าระวังช้างป่า หลังจากเสร็จงานดูแลสวนช่วงเย็น ตนและลูกเขยซึ่งมีหน้าที่ดูแลสวน ออกไปกินข้าวที่บ้านพักซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร เมื่อกินข้าวเสร็จช่วงหัวค่ำนายธีรพงษ์ ลูกเขยก็รีบกลับมาที่สวนทุเรียนพบว่าสัญญาณไซเรนรั้วกันช้างดัง จึงรีบไปดู พบช้างตัวใหญ่ 4-5 ตัว กำลังบุกเข้ามาเขย่าต้นทุเรียน และใช้เท้าเหยียบลูกทุเรียนที่หล่นลงมาเพื่อกินเนื้อข้างใน จึงได้ช่วยกันผลักดันช้างป่าออกไปด้วยการฉายไฟไล่ช้างและจุดประทัดยักษ์ หรือ ลูกโป้ง ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ช้างป่าจึงออกไป จากนั้นช่วงประมาณดีสามก็พบว่า ช้างป่าบุกเข้ามาอีกรอบ โดยเข้ามาอีกด้านของสวนทุเรียน ตนเละลูกเขยจึงได้ช่วยกันผลักดันช้างป่าออกไปอีกรอบ กระทั่งเช้าจึงออกมาดูความเสียหาย พบว่าช้างป่าดึงรั้วสัญญาณไซเรนจนหลุด และเข้ามาในสวน พบลูกทุเรียนทั้งอ่อนและแก่ หล่นกระจายตามพื้นหลายร้อยลูก คิดเป็นน้ำหนักกว่า 1 ตัน
เจ้าของสวนทุเรียน ป.ป่าละอู กล่าวต่ออีกว่า ในครั้งนี้ทุเรียนเสียหายไปหลายร้อยลูก ต้องสูญเสียรายได้ไปกว่าสี่แสนบาท เนื่องจากทุเรียนป่าละอูเป็นผลไม้ยอดนิยม และเป็นสินค้าจีไอ มีราคาจำหน่ายสูงกว่าทุเรียนทั่วไป ราคาขายตอนนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ทุเรียนที่เสียหายหลายลูกมีน้ำหนัก 4-5 กิโลกรัม หรือเกือบหนึ่งพันบาท ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาพยายามดูแลต้นทุเรียนเป็นอย่างดี เพื่อหวังรายได้จากการขายทุเรียนฤดูกาลนี้ แต่ทุเรียนเตรียมเก็บขายได้ในอีก 2 สัปดาห์ต้องมาเสียหายเสียก่อน
เบื้องต้นในช่วงที่ทุเรียนแก่จัดใกล้เก็บเกี่ยว อยากให้มีการจัดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนตามเส้นทางต่างๆ แล้ว เข้ามาลาดตระเวนตามสวนทุเรียนด้วย เนื่องจากบางครั้งแม้เจ้าของสวนทุเรียนจะเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่ากันเองก่อน แต่ก็ไม่ทันการณ์ และกว่าช้างป่าจะยอมออกไปก็สร้างความเสียหายกับพืชผลทางการเกษตรเป็นวงกว้างแล้ว ตอนนี้ต้องเร่งเก็บลุกทุเรียนที่หล่นอยู่ตามพื้นออกจาสวนทุเรียน เพื่อไม่ให้ช้างได้กลิ่นกลับเข้ามาอีก
ด้านนางสุนันทา พิมพ์ไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวว่า ปัญหาช้างป่า บุกทำลายพืชผลทางเกษตรของชาวบ้าน เป็นปัญหาที่ซ้ำซาก และยอมรับว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลที่ทุเรียนป่าละอูมีผลผลิตเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาด ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เป็นช่วงที่ทุเรียนป่าละอูแก่จัด พยามแก้ไขปัญหาทั้งการจัดสร้างแนวรั้วกันช้างกึ่งถาวรรอบพื้นที่หมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ แต่ก็ยังได้ไม่กี่กิโลเมตร โดยเฉพาะหมู่บ้านนี้ที่ช้างเข้ามาก็ยังไม่มีรั้วกั้น ดังนั้นจึงขอให้เจ้าของสวนแต่ละแห่งต้องช่วยกันดูแลสวนของตนเองด้วย และรู้สึกเห็นใจเกษตรกรชาวสวนป่าละอูที่ได้รับปลกระทบกับช้างป่า
ทาง อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าแก่งกระจานที่บุกเข้ามาสร้างความเสียหาย มีการแก้ไขมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่รับความเดือดร้อน จากเดิมที่จ่ายเงินเยียวยา คิดเป็นพื้นที่ ไร่ละ 1,600 บาท ปัจจุบันในส่วนของต้นทุเรียน จะจ่ายเงินเยียวยาความเสียหาย 2 แบบ คือ ต้นทุเรียนมีอายุขึ้นไป 5 ปี มีผลผลิต จะจ่ายเงินเยียวยาต้นละ 1,600 บาท และทุเรียน อายุไม่ถึง 5 ปี ต้นเล็กเสียหาย 5 ต้น จ่ายเงินเยียวยา 1,600 บาท
อย่าลืม!!!
ติดตามข่าวสารจาก Face book : Prachuppost Newspaper
?กดติดดาว ⭐️ เพจ …จะได้ไม่พลาดโพสต์ของเรา…ได้ที่นี่
https://www.facebook.com/prachuappost/
https://www.facebook.com/prachuppost/
***กดเข้ากลุ่ม ???? กับ ประจวบโพสต์นิวส์ ได้ที่นี่
https://www.facebook.com/groups/387550115078888/
…………………………………………………………………………
ติดตาม #ประจวบโพสต์นิวส์ #Prachuppostnews ได้ใน
Website: http://www.prachuppostnews.com/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCXnxGL0eeJZsm6vNRqaSUVA…
Twitter: https://twitter.com/prachuppostnews
IG : www.instagram.com/ prachuppostnews