ยอดโกงเงินหลวงสนง.ประจวบฯพุ่ง 39.2ล้าน
ยักยอกเงินสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยอดพุ่งจาก 33.9 ล้าน เป็น 39.2 ล้าน ตรวจสอบพบปลอมเช็ค 78 ครั้ง สื่อซักรอดพ้นสายตาตรวจสอบภายใน สตง. ได้อย่างไร และตั้ง จนท.ในหน่วยงานสนง.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตรวจสอบกันเอง ด้านผู้ว่าฯรับพร้อมเปลี่ยน ส่วนตำรวจตั้ง5ข้อหาลูกจ้างยักยอก
จากกรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานราชการ ตำแหน่งพนักงานการเงินและบัญชี สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยักยอกเงินจำนวน 33.9 ล้านบาท และถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุดช่วงเย็นวันนี้(วันที่ 29 มิถุนายน 2563 ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถนนสวนสน-อ่าวน้อย นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายธีรพันธ์ นันทกิจ นายภิรมย์ นิลทยา นายคมสัน เจริญอาจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายกิตติพงษ์ สุขภาคกุล ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ น.ส.เกศริน ภัทรเปรมเจริญ คลังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุขแสวง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีลูกจ้างสำนักงานจังหวัดยักยอกเงินจำนวน 33.9 ล้านบาท จากการกระทำความผิดปลอมแปลงเอกสาร และนำเงินงบประมาณทางราชการ ออกจากระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเลคทรอนิกส์ หรือ GFMIS แล้วโอนผ่านบัญชีตนเองไปหลายบัญชี พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาดำเนินคดี อาญาที่ 250/2563 สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ และศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ฝากขังที่เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2563แล้วนั้น
ต่อมาทีมสอบสวน สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ และตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์ ในการกระทำผิด ใช้โอกาสที่ตนได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือบัตรในการเข้าระบบ เบิกจ่าย เพื่อสร้างข้อมูลในระบบ ส่งไปยังคลังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พิจารณาอนุมัติเบิกจ่าย จากนั้น ข้อมูลจะถูกส่งไปกรมบัญชีกลางเพื่อจ่ายเงินเข้าบัญชีหลักของผู้ขายโดยตรง ในกรณีนี้เบิกจ่ายเข้าบัญชีญาติ เป็นจำนวนเงิน 33,615,700 บาท
ผู้ต้องหานำสมุดเช็คไปปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย ซึ่งต้องใช้ผู้ลงนามอนุมัติสองในห้าคน เรียกเก็บเงินจากธนาคาร ผ่านบัญชีสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเงินจำนวน 5,955,451,50 บาท โดยเงินส่วนหนึ่งสั่งจ่ายไปยังบัญชีญาติ 2 คน รวมการกระทำผิดจำนวน 166 ครั้ง รวมเป็นเงิน 39,951351,50 บาท จากนั้น ได้โอนเงินกระจายเข้าสู่บัญชีตนเองจำนวน 14 บัญชี และตรวจสอบพบว่าเงินไหลเวียนไปยังบัญชีที่ผูกไว้กับเว็บไซต์การพนันออนไลน์
พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุขแสวง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบฯ กล่าวว่ามีความผิดฐาน 1.เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต 2. เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยที่ตนมีหน้าที่นั้น 3.มีความผิดฐานลักทรัพย์เป็นเงินของทางราชการโดยใช้กลอุบาย 4.ความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน 5.ความผิดฐาน ปลอมเอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสารทางราชการ และใช้เอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการที่ได้ปลอมขึ้น
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มีปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานและพบว่ามีการตั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 3 ใน 5 รายเป็นคณะกรรมการ ทำให้เกิดความคลางแคลงใจถึงความโปร่งใสในการตรวจสอบ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ จึงเห็นชอบให้เปลี่ยนคณะกรรมการตรวจสอบใหม่ทั้งชุด โดยใช้บุคคลภายหน่วยงาน และในวันพฤหัสนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากกระทรวงมหาดไทย จะร่วมทำการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วย
สำหรับความเสียหายทางราชการ 39.2 ล้านบาท มาจาก งบเงินฝากคลัง หรือเงินประกันสัญญา 9.6 ล้านบาท เงินแก้ไขปัญหา หรือเงินภัยแล้ง 23.6 ล้านบาท งบจังหวัด 5.9 ล้านบาท เงินอื่น ๆ 2.5 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ 39.2 ล้าน
นายกิตติพงษ์ สุขภาคกุล ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กล่าวว่าเรื่องที่เกิดขึ้นผู้บังตับบัญชาอาจไม่ชำนาญการในการใช้ระบบ จึงมอบบัตรทั้ง 2ใบให้กับผู้ต้องหาเอาไว้ดำเนินการทำให้มีเครื่องมือ ดำเนินการทำหลักฐานต่างๆ ทั้งทำสัญญา อนุมัติ และเบิกจ่ายเงิน ซึ่งการตรวจสอบต้องขยายผลเพิ่มเติมว่ามีเจ้าหน้าที่ใครที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ว่าจะเป็นการหัวหน้าฝ่าย หัวหน้ากลุ่ม และหัวหน้าสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจะชี้แจงให้สื่อมวลชนทราบต่อไป
นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้พบยอดเงินในการทุจริตเพิ่มจาก 33.9 ล้านบาทเป็น 39.2 ล้านบาท จากการใช้ระบบออนไลน์ทำข้อมูลเท็จโอนเงินเข้าบัญชีมารดาและญาติ พร้อมปลอมลายมือผู้มีอำนาจจากบัญชีเช็คงบประมาณจังหวัด สั่งเบิกจ่ายเงินสดจากธนาคารกรุงไทย พบความผิดตั้งเดือนเมษายน 2562 ต่อเนื่องถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2563 เนื่องจากได้รับแจ้งจากธนาคารกรุงไทยว่าเจอเช็คเด้งจากสำนักงานจังหวัดประจวบตรนรขันธ์ จำนวน 120,000 บาท ซึ่งสั่งจ่ายหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ขณะที่ทางราชการได้อายัดเงินคืนได้เพียง 7 แสนกว่าบาท พร้อมสั่งให้ลูกจ้างออกจากราชการ
“ ปัญหาเกิดจากผู้มีอำนาจในหน่วยงานปล่อยปละละเลย ปล่อยให้ลูกจ้างทำงานโดยพลการ เนื่องจากเห็นว่าเชี่ยวชาญใน ระบบ ไอที. และหากผลการสอบสวนพบปัญหาจากการเบิกจ่ายที่ทำให้มีการทุจริต เกิดจากความบกพร่องของข้าราชการรายใด ก็จะต้องรับผิดชอบทั้งทางวินัยและชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิด ตามอำนาจหน้าที่ได้รับมอบหมาย
พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุขแสวง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่าขณะนี้คดีมีความคืบหน้าไปพอสมควร โดยประสาน ปปง.ให้ช่วยติดตามเงินที่โอนไปเวปพนันออนไลน์ โดยเฉพาะการนำเงินไปฝากไว้ในเวปเพื่อถอนคืนในภายหลัง หากพบว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีผู้ใดก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมติดตามเส้นทางการเงินที่โอนให้เครือญาติ แต่ขณะนี้ยังไม่ออกหมายจับบุคคลใดเพิ่มเติม