ตัด-หัก!!! ปะการังเกาะทะลุ ประจวบฯ ใครลงมือ

ติดตามข่าว ประจวบโพสต์
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

กรณีมีการโพสต์ภาพปะการังน้ำตื้น บริเวณเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแปลงปลูกปะการัง  แต่มีสภาพเสียหาย ปะการังแตก กิ่งหัก ผ่าน  Facebook ของนายประจักษ์ ทองรัตน์ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรใต้น้ำ ชุมชนบ้านปากคลอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าสั่งควานหาผู้กระทำความผิดให้ดำเนินการถึงที่สุด โทษหนักสุดจำคุก 10 ปี  ปรับไม่เกิน 1,000,000บาท ตามมาตรา 89 วรรค1 แห่ง พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  พ.ศ.2562 ด้านกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยกทีมนักวิชาการดำน้ำสำรวจพื้นที่ทันที พร้อมตั้งทีมสอบสวนข้อเท็จจริง ยืนยันพร้อมดำเนินคดีหากพบผู้กระทำความผิดจริง ขณะที่กลุ่มชาวประมงและกลุ่มอนุรักษ์ ขอให้หน่วยเกี่ยวข้องทำความจริงเรื่องนี้ให้กระจ่าง รวมทั้งตำรวจ สภ.บางสะพานน้อย ซึ่งได้รับแจ้งความแล้วก็ควรเร่งสืบสวนสอบสวนหาดตัวผู้ตัด หัก กิ่ง ปะการังมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้

                          ( วันที่ 6 มีนาคม 2564)  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้รับรายงาน กรณี ปะการังได้รับความเสียหายซึ่งคาดว่าเกิดจากการตัด หักกิ่งปะการัง ตนรู้สึกกังวลอย่างยิ่งและได้สั่งการให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามหาสาเหตุของความเสียหายดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และรายงานให้ตนทราบทันทีทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการตัด หักกิ่ง เกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างไรคงต้องรอการสืบข้อเท็จจริงก่อน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำความผิดโดยตั้งใจ ของผู้รับจ้างที่เป็นคู่สัญญาหรือเป็นการกลั่นแกล้งกันจากผู้เสียผลประโยชน์ ก็จะให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด

                                     ซึ่งตนอยากจะขอย้ำว่า “ปะการังนับเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ไม่ว่าจะกระทำการใด จะโดยตั้งใจหรือประมาทเลินเล่อต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย อีกทั้งจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ในฐานะ รมว.ทส.ตนอยากจะฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า โปรดช่วยกันเป็นหูเป็นตา ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรืออย่าเอาชนะกันด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพราะจะไม่มีผู้ชนะ จะมีแต่ผู้สูญเสีย มนุษย์สูญเสียธรรมชาติ ส่วนธรรมชาติสูญเสียสมดุล” ซึ่งเรื่องนี้ตนจะติดตามอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจะได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ต่อไป

                             ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าพื้นที่เกิดเหตุจะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ)ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็ตามตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3  ดำเนินการแจ้งความ  ที่สถานีตำรวจภูธรบางสะพานน้อย ไปแล้วเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ไว้ก่อน อีกทั้งได้สั่งการให้ทีมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังลงดำน้ำเพื่อสำรวจความเสียหายและประเมินสภาพแปลงปลูกปะการังดังกล่าว

                            อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวอีกว่าผลการสำรวจพบว่า ปะการังส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหายเป็นปะการังเขากวาง ทั้งนี้ มีการพบรอยแผลของปะการัง และการสมานของเนื้อเยื่อ รวมทั้ง การเติบโตของโครงสร้างหินปูน ซึ่งทาง กรมทช. ได้สอบสวนบริษัทรับปลูกเสริมปะการัง ที่กรมทช.ได้ว่าจ้างดำเนินการปลูกเสริมปะการัง ในปี 2564 จำนวน 25 ไร่ รวมถึง พื้นที่เกาะทะลุด้วยเบื้องต้น ทางบริษัทยืนยันว่าไม่ได้มีการตัดหรือหักปะการังจากแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งตามสัญญาทางบริษัทที่เข้าดำเนินการจะต้องเก็บกิ่งพันธุ์ ที่หักและหล่นอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น จะไม่ให้ตัดหรือหักกิ่งพันธุ์แต่อย่างใด  และกรณีที่ในพื้นที่ มีกิ่งแตกหักในธรรมชาติไม่เพียงพอ และมีความจำเป็นต้องตัดกิ่งพันธุ์ในแปลงที่เคยปลูกฟื้นฟูไว้ ก็จะต้องทำหนังสือขออนุญาตจากกรมฯ ก่อนอย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและรายงานให้ทราบโดยด่วน หากทราบผู้กระทำผิด จะต้องดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด ต่อไป

DCIM\100GOPRO\G0041770.JPG

                        นางสุมณา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่กับนักวิชาการที่ลงดำน้ำตรวจสอบวานนี้ ที่บริเวณปลายเกาะทะลุ ซึ่งกรมทช. ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการปลูกปะการังเพื่อฟื้นฟูแหล่งปะการังในแหล่งท่องเที่ยว ในพื้นที่ 25 ไร่ ใช้งบประมาณ 4.78 ล้านบาท ทำสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 หมดสัญญาวันที่ 15 กันยายน 2564 โดยบริษัทกิจการค้าร่วมRR เป็นคู่สัญญา ล่าสุดหลังพบว่าหลังจากมีภาพปะการังเกิดความเสียหาย จึงได้แจ้งให้บริษัทหยุด ดำเนินการชั่วคราวก่อนเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งสอบสวนหาข้อเท็จจริง และขอเรียนว่าการปลูกปะการังที่เกาะทะลุ กรม ทช.ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้างรายงวดให้กับบริษัทผู้รับจ้างรายนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำสัญญาจ้างกับ กรมทช.โดยใช้งบรวม 28.7 ล้านบาทดำเนินการฟื้นฟูปากะรังในแหล่งธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวรวม 150 ไร่ ที่ จ.ภูเก็ต จ.ตราด จ.ชลบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.สุราษฎร์ธานี

                       จากการสอบถามบริษัทที่ดำเนินการ ยืนยันว่า ไม่มีการตัดหรือหักปะการังจากแปลงดังกล่าว และตามสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ดำเนินการต้องเก็บกิ่งพันธุ์ ที่หักหล่นตามธรรมชาติเท่านั้น จะไม่ให้ตัดหรือหักกิ่งพันธุ์ในธรรมชาติ หากบริษัทจะดำเนินการตัดกิ่งพันธุ์ ก็ต้องทำหนังสือขออนุญาตจาก กรมทช. โดยทีมงานได้ลงไปสำรวจ พบว่าจุดที่มีภาพเสียหาย มีการหักปะการังจริง แต่ ยังไม่สามารถระบุได้ว่ากลุ่มบุคคลใดหักกิ่งปะการัง ซึ่งได้มีการแจ้งความที่ สภ.บางสะพานน้อยไปแล้ววานนี้ โดยทางอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนายโสภณ ทองดี ได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา

                 นายภัทร  อินทรไพโรจน์ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม(เตรียมการ)พร้อม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังทราบข้อมูลพร้อมเจ้าหน้าที่ ร่วมกับนางสุมณา  ขจรวัฒนากุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  และ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปะการังที่เสียหายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของเกาะทะลุ และพื้นที่ที่มีการพื้นฟูแนวปะการัง

               ซึ่งจากรายงานของ นักวิชการของกรม ทช.ที่ลงไปสำรวจพบจำนวนโคโลนีปะการังเขากวางที่มีความเสียหาย (มีร่องรอยการแตกหัก) มากกว่า 60 % ของโคโลนีจำนวน 15 โคโลนี จำนวนโคโลนีปะการังที่มีความเสียหายประมาณ 20% ของโคโลนีมีจำนวน 15 โคโลนี จำนวนโคโลนีปะการังที่มีความเสียหายประมาณ 10% ของโคโลนี มีจำนวน 40 โคโลนี

               สำหรับปะการังจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ประเภทสัตว์ป่าไม่มีกระดูกสันหลัง ลักษณะของปะการังถูกหักออกไป ซึ่งมีความผิดในมาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง มีบทกำหนดโทษในมาตรา 89 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 12 หรือมาตรา 29 ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 มาตรา 17 ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นระงับการกระทำหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้นเป็นการชั่วคราวตามความเหมาะสม และตามประกาศคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 445/2559 ประกาศวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2559 เรื่อง มาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรปะการัง ตามข้อที่ 8 ห้ามการเก็บหรือทำลายปะการัง เว้นแต่การกระทำเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ บทกำหนดโทษตามมาตรา 27 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกตามมาตรา 17 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าแจ้งความพนักงานสอบสวน สภ.บางสะพานน้อย เร่งสืบหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายดังกล่าวต่อไป

                     ด้านนายประจักษ์ ทองรัตน์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรใต้น้ำ ชุมชนบ้านปากคลอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่าหลังจากโพสต์ภาพและข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กลุ่มอนุรักษ์ชุมชนบ้านปากคลอง กรณีพบซากปะการังน้ำตื้นที่บริเวณปลายเกาะทะลุด้านทิศใต้ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่ทราบมาก่อนว่ามีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ใช้งบประมาณดำเนินการว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการปลูกปะการังในพื้นที่ดังกล่าว และหลังจากนี้ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสอบสวนหาข้อเท็จจริงโดยเร็ว เนื่องจากเชื่อว่าปะการังน้ำตื้นหลายชนิดที่แตกหักไม่มีปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาติ

                       นายดำรงค์ แดงโชติ ประธานกลุ่มรักษ์ถิ่นชาวเล อ่าวบางสะพานน้อย กล่าวว่า จากภาพที่เห็นยอมรับรู้สึกสะเทือนใจเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวประมงตกเป็นจำเลยของสังคม  กับการเสียหายของแนวปะการังมาตลอดผมและพี่น้องชาวประมงพยามสื่อสารกับหน่วยงานรัฐในการดูแลและรักษา…ยืนยันเจตนารมณ์หลีกเลี่ยงการทำประมงตามแนวปะการังเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียหายต่อแนวปะการัง วันนี้ผมมั่นใจว่าการเสียหายในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากพี่น้องชาวประมงอย่างแน่นอน   ซึ่งทำให้ผมเสื่อมศรัทธาต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นอย่างมากและผมเชื่อว่าไม่มีทางจับมือใครดมได้….  ดังนั้นหากใครที่มีเบาะแสในเรื่องนี้อยากให้ช่วยกันแจ้ง เพื่อจะได้รับรู้ว่าใครมา”หักปะการัง” เกาะทะลุ ที่ช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้

                    ด้านนายสวัสดิ์เกียรติ สีทับทิม เลขากลุ่มประมงพื้นบ้านอ.บางสะพาน ในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษา อช.อ่าวสยาม(เตรียมการ) กล่าวว่า รู้สึกเสียความรู้สึกที่โครงการฟื้นฟูปะการัง ส่งผลต่อความมั่นใจของหน่วยงานภาครัฐว่าทำได้จริงหรือไม่             อยากเห็นการชี้แจงกระบวนการตรวจสอบการปลูกของเจ้าหน้าที่กรมทช.ที่ลงไปตรวจสอบดูหรือไม่ว่าผู้รับเหมาไปนำกิ่งพันธุ์มาจากไหน  ซึ่งกรมทช.นอกจากตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ควรเปิดเผยข้อมูลขั้นตอนรายละเอียดการดำเนินการโครงการฟื้นฟูการปลูกปะการังที่เกาะทะลุ  ให้กับ ประชาชนสาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงต่อไป  เนื่องจากเป็นข้อกังขาว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับ”ปะการัง”เกาะทะลุที่ถูกทำลาย  รวมทั้งเรื่องนี้จะมีการนำเสนอพูดคุยในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม(เตรียมการ)ในวันที่ 25 มีนาคม 2564 ว่ากรณีดังกล่าวมีความคืบหน้าอย่างไรบ้างเพราะมีทั้งหน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กลุ่มอนุรักษ์ สื่อมวลชนและหน่วยงานภาครัฐ  เข้าร่วมประชุม

                    ท้ายที่สุด กรณีแปลงปลูกปะการัง ที่เกาะทะลุ ถูกตัด-หักเสียหาย ตามที่กลุ่มอนุรักษ์ฯโพสต์ลงเฟซบุ๊ก และสื่อมวลชนมีการนำเสนอต่อเนื่อง  จนเป็นเรื่องที่นักดำน้ำ กลุ่มอนุรักษ์ ชาวประมงต่างรู้สึกเสียดายที่ปะการังเป็นสัตว์มีชีวิตแต่ถูกทำลาย กว่าจะเจริญเติบโตต้องใช้ระยะเวลาซึ่งถือเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเลที่มีการหวงแหนและการอนุรักษ์ตามที่ภาครัฐมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกัน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ปะการัง เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์   จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานเกี่ยวข้อง และตำรวจ สภ.บางสะพานน้อย  ต้องตรวจสอบสืบสวนหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่า”ใครเป็นผู้ลงมือ” ตัด หัก  

อย่าลืม!!!

ติดตามข่าวสารจาก Face book : Prachuppost Newspaper

?กดติดดาว ⭐️ เพจ …จะได้ไม่พลาดโพสต์ของเรา…ได้ที่นี่

https://www.facebook.com/prachuappost/
https://www.facebook.com/prachuppost/

***กดเข้ากลุ่ม ???? กับ ประจวบโพสต์นิวส์ ได้ที่นี่

https://www.facebook.com/groups/387550115078888/

Website: http://www.prachuppostnews.com/

…………………………………………………………………………