ผู้ว่าฯประจวบฯ สั่งรองผู้ว่าฯ นอภ.หัวหิน ตรวจสอบรั้วกันช้างกองขึ้นสนิมจริง
รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมนายอำเภอหัวหิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ที่ชาวบ้านร้องเรียนสื่อมวลชน พบกองเหล็กสำหรับก่อสร้างแนวรั้วกันช้างจำนวนมากถูกทิ้งร้างข้ามปีจนขึ้นสนิม ไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง ล่าสุดมีการชี้แจงจากบริษัทผู้รับเหมาว่า กองเหล็กดังกล่าวเป็นจุดรวบรวมวัสดุ และไม่ได้ทิ้งงาน แต่ล่าช้าเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสภาพอากาศที่มีฝนตกชุก ส่วนเหล็กที่ขึ้นสนิมจะต้องล้างและเคลือบใหม่ก่อนนำมาใช้ พร้อมระบุว่าเดือนเมษายน นี้จะดำเนินการให้เสร็จ
วันนี้(วันที่ 1 มีนาคม 2565) นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน,นายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน,นายวัชระ กำพร นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กำนันตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ช่างองค์การบริหารส่วนตำบลหนองพลับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า WCS ประเทศไทย ทหารชุดเฉพาะกิจจงอางศึก ตำรวจพลร่ม ชุดพัฒนาการเคลื่อนที่ 712 ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีชาวบ้านในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ร้องเรียนกรณีพบกองเหล็กสำหรับสร้างแนวรั้งกั้นช้างจำนวนมาก ถูกบริษัทผู้รับเหมาซึ่งเป็นคู่สัญญากับกรมอุทยานแห่งชาติปล่อยทิ้งร้างข้ามปี ไม่มีการนำเหล็กไปใช้ประโยชน์ ทำให้ขณะนี้เหล็กเกิดสนิมเกาะ มีหญ้า และวัชพืชทั้งเถาวัลย์ ใบไม้ขึ้นปกคลุม เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน รวมทั้งยังทำให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกช้างป่าบุกรุกพื้นที่การเกษตรและที่พักอาศัยล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ และชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านรับทราบ
โดยจุดแรกที่ นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และคณะ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบคือบริเวณด้านหน้าทางเข้า ที่ทำการชุดพัฒนาการเคลื่อนที่ 712 ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร พบ กองวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างแนวรั้วกั้นช้าง ตามที่ชาวบ้านร้องเรียนสื่อมวลชน ส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กปล้องอ้อย ที่ถูกแปลงสภาพเป็นโครงเหล็กแบบต่างๆ ทั้งโครงเหล็กแบบเสา โครงเหล็กแนวรั้ว เหล็กยึดแนวรั้ว กองรวมกันเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นโครงเหล็กสภาพเก่า มีสนิมขื้น มีใบไม้ หญ้าขึ้นปกคลุม นอกจากนี้จะเป็น ลวดที่ใช้สำหรับยึดโครงเหล็ก และโครงเสาเหล็กที่มีการเทปูนหล่อฐานเอาไว้
จากนั้นได้เดินทางไปที่บริเวณการก่อสร้างแนวรั้วกั้นช้าง หมู่ 2 บ้านฟ้าประทาน ซึ่งมีการก่อสร้างแนวรั้วไปบางส่วน แต่ซึ่งจุดนี้ไม่พบคนงานก่อสร้างทำงานแต่อย่างใดพบเพียงแนวรั้วบางส่วนที่ประกอบเสร็จแล้วมีการปักเสาและใส่แผงรั้วกั้นไว้แล้วส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ถัดเข้าไปด้านในพบว่ามีการปักเพียงเสาที่หล่อปูนเสร็จเรียบร้อยแล้วมีการกองแผงรั้วเอาไว้ที่เป็นแผงสีเทา โดยมี นายโอภาศ ใยลีอ่าง หัวหน้าฝ่ายก่อสร้าง บจก.บี เพาเวอร์ แฟคตอรี่ แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นตัวแทนให้ข้อมูล และชี้แจงข้อมูล โดยระบุว่า โครงการนี้มีพื้นที่คาบเกี่ยว 2 ส่วนคือ อยู่ในพื้นที่ อบต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ พื้นที่ในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ รวมระยะทางการก่อสร้างแนวรั้วทั้งสิ้น 43 กม. โดยในส่วนของตำบลห้วยสัตว์ใหญ่จะมีการก่อสร้างแนวรั้วระยะทางแบ่งเป็น 2 โซน รวมทั้งสิ้น 26.25 กม. ซึ่งสัญญาเริ่มต้นวันที่ 31 มีนาคม 2564 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 200 วัน สาเหตุที่มีการกองวัสดุที่บริเวณหน้า ที่ทำการชุดพัฒนาการเคลื่อนที่ 712 เป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากบริเวณตรงนี้เป็นรวบรวมวัสดุ หรือ สต๊อควัสดุ เพื่อกระจายออกไปใช้ตามหน้างานตามจุดต่างๆที่มีการก่อสร้าง
ส่วนปัญหาความล่าช้าได้ชี้แจงว่าเกิดจาก 2 ส่วนหลักคือ สภาพอากาศที่มีฝนตกชุก และปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ส่งผลต่อการนำแรงงานเข้ามาทำงานในพื้นที่ เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ทางบริษัทฯ มีโอกาสเข้ามาดำเนินการอีกรอบ โดยจำต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนหมดระยะสัญญา ในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทมีแผนจะนำคนงานเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาเหล็กขึ้นสนิมนั้น จะต้องเข้าสู่กระบวนการพ่นล้างสนิมก่อนนำมาใช้
ด้าน นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แสดงความเป็นห่วงหลังทราบข่าวชาวบ้านป่าละอูได้ร้องเรียนสื่อมวลชน และเผยแพร่ออกอากาศไปนั้น จึงมอบหมายให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับทุกฝ่าย จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าโครงการก่อสร้างรั้วกั้นช้างกึ่งถาวร พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล วงเงิน89ล้านบาท โดยได้คู่สัญญาแรกลงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ระยะเวลาดำเนินการ 200 วัน ดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2564ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่อยู่ระดับสีแดงเข้ม ส่งผลต่อการนำแรงงานเข้ามาทำงาน ประกอบกับเป็นช่วงฝนตกติดต่อกัน ทำให้การทำงานเกินระยะเวลาเกิน 200 วัน ทำให้งบประมาณตกไป เนื่องจากเป็นงบประมาณฉุกเฉิน แต่เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ กรมอุทยานแห่งชาติฯจึงได้จัดสรรงบประมาณปกติ เข้ามาดำเนินการต่อตามขั้นตอน ซึ่งได้คู่สัญญารายเดิม โดยสัญญาระยะที่ 2 นี้จะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2565 แต่เนื้องานยังมาไม่ถึงตรงนี้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เนื่องจากโครงการฯเริ่มตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมาทำให้สภาพเหล็ก โดนฝน โดนสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้เกิดสนิม ไม่ใช่การทิ้งร้าง ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ ได้เน้นย้ำว่า เหล็กที่ขึ้นสนิมจะต้องพ่นล้าง และเคลือบใหม่ ก่อนนำไปใช้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าจากการดูสภาพโครงเหล็กยอมรับว่า น่าจะไม่น่ามีการดำเนินการมานานเพราะภาพที่เห็นมันฟ้อง ทั้งใบไม้ที่ร่วงหล่นมาทับถม เถาวัลย์ที่ขึ้นปกคลุม และขอบคุณที่ชาวบ้าน สื่อมวลชนช่วยกันติดตามทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการดำเนินการต่อเนื่องเพราะเท่าที่ทราบชาวบ้านเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่าที่เข้ามากัดกินพืชผลทางการเกษตร
รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ กล่าวอีกว่าหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ อปท.และประชาชน เห็นประโยชน์ร่วมกันว่า แนวรั้งกั้นช้างจะมีประโยชน์ และสามารถแก้ปัญหาช้างป่าได้ จึงอย่างเร่งให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ตอนนี้ในส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะต้องกำชับ หน่วยงานระดับพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ ให้การดำเนินงานแล้วเสร็จตามกำหนด มองว่าอาจจะต้องบริหารสัญญากันใหม่ ทั้งฝ่ายหน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคู่สัญญาที่เป็นบริษัทเอกชน อาจจะวางแผนก่อสร้างในหลายจุดพร้อมกัน หรือต้องมีการระดมแรงงานเข้ามาเพิ่ม รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเข้ามากำกับ ส่วนกรณีที่อาจจะเกิดเหตุสุดวิสัยไม่เสร็จตามกำหนดจะต้องเสียค่าปรับอย่างน้อยเกือบ2 แสนบาทต่อวัน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน อยากให้การก่อสร้างแนวรั้งกั้นช้างเสร็จสมบูรณ์จะดีที่สุด โดยหลังกลับไปแล้วจะได้รายงานข้อเท็จจริงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯได้รับทราบทั้งหมด เนื่องจากผู้ว่าฯให้ความสนใจเรื่องนี้มาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ทั้งจุดที่คณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ นายอำเภอหัวหิน และคณะลงไปตรวจติดตามนั้น ไม่พบว่ามีคนงานเข้ามาทำงานในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด ถึงแม้เกิดปัญหาหลังชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนสื่อแล้ว แจ้งว่ามีคนงานเข้ามาแล้วก็ตาม แต่ทำอยู่จุดอื่น
ขณะที่ชาวบ้านป่าละอู ที่ทราบข่าวการลงพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ลงมาดูปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องแนวรั้วกันช้างที่ป่าละอู ซึ่งถูกกองทิ้งขึ้นสนิมมานานเป็นปีนั้นก็ยอมรับว่าอย่างน้อย ก็อาจจะนำไปสู่การเร่งรัดให้บริษัทรับเหมาเข้ามาดำเนินการให้เร็วขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน ขณะที่ในส่วนของอุปกรณ์โครงเหล็กที่ขึ้นสนิม นั้นโดยเฉพาะลวดซึ่งเห็นว่าไม่สามารถใช้การได้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการติดตามการสร้างแนวรั้วต้องคอยตรวจสอบว่า จะมีการเปลี่ยนลวดที่ผูกโครงเหล็กหรือไม่ เพราะมั่นใจว่าไม่สามารถที่จะใช้งานได้อีก
อย่าลืม!!!
ติดตามข่าวสารจาก Face book : Prachuppost Newspaper
📌กดติดดาว ⭐️ เพจ …จะได้ไม่พลาดโพสต์ของเรา…ได้ที่นี่
***กดเข้ากลุ่ม 👨👩👧👦 กับ ประจวบโพสต์นิวส์ ได้ที่นี่
ติดตาม #ประจวบโพสต์นิวส์ #Prachuppostnews ได้ใน
Website: http://www.prachuppostnews.com/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCXnxGL0eeJZsm6vNRqaSUVA…
Twitter: https://twitter.com/prachuppostnews
IG : www.instagram.com/ prachuppostnews