พัฒนาชุมชนสามร้อยยอด นำ 3 หมู่บ้านดูงานชุมชนต้นแบบ บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย
พัฒนาชุมชนสามร้อยยอด นำ 3 หมู่บ้านดูงานชุมชนต้นแบบ บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสามร้อยยอด เดินหน้านโยบาย “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” พาผู้นำชุมชนพร้อมชาวบ้านเดินทางศึกษาดูงานหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ณ บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย หวังนำไปปรับใช้ และเป็นแนวทางในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา “นักเดินทาง”ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะศึกษาดูงานของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสามร้อยยอด นำชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้าน ในตำบลไร่เก่า หมู่ที่ 1 บ้านตาลเจ็ดยอด หมูที่ 2 บ้านสามร้อยยอด และหมู่ที่ 8 บ้านไร่เจริญ อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดินทางไปศึกษาดูงาน หมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ณ บ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่ม ผู้นำและตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปร่วมดูงานได้นำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้มาปรับใช้กับพื้นที่ของหมู่บ้านตนเอง ให้กลายเป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี “ดึงภูมิปัญญา-วิถีชีวิต เพิ่มรายได้ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งนำโดยนางจามจุรี ลิ้มกุลวราภิวัฒน์ พัฒนาการอำเภอสามร้อยยอด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอสามร้อยยอด โดยมีนางสาวทิวาพร สุวรรณหงส์ ปลัดอำเภอสามร้อยยอด เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลไร่เก่า และองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย ร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน โดยมีชาวบ้านนาต้นจั่นมารอให้การต้อนรับ
นางจามจุรี ลิ้มกุลวราภิวัฒน์ พัฒนาการอำเภอสามร้อยยอด กล่าวว่าสำหรับโครงการพัฒนาชุม OTOP นวัตวิถี ที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนมุ่งให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับหมู่บ้าน ให้กลายเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เข้าไปเยี่ยมชม และสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ และใกล้เคียง
นายอภิชาต โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวถึงแนวคิดท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี ไว้ว่า เป็นแนวคิดการพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่ โดยให้ขายสินค้าอยู่ภายในชุมชน สร้างรายได้ภายในชุมชน นำเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ แปลงเป็นรายได้กระจายในชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง ต่างจาก OTOP เดิมที่ต้องออกสู่ภายนอกชุมชน
โดยที่ชาวบ้านนาต้นจั่น สามารถดึงเอาความเป็นอัตลักษณ์ของบ้านนาต้นจั่นมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม หยิบเอาของที่มีอยู่ในพื้นที่มาสร้างเป็นรายได้ให้กับคนในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอีแต๊กนำเที่ยว ทอผ้าใต้ถุนบ้าน ตุ๊กตาบาร์โหน การทำผ้าหมักโคลน หัตถกรรมตอไม้ และได้กินข้าวเปิ๊บ หรือก๋วยเตี๋ยวพระร่วง ซึ่ง”นักเดินทาง”และคณะดูงานต่างให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก
หลังจากนั้น “นักเดินทาง” และคณะยังได้เดินทางไปชมแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดแลนด์มาร์กของบ้านนาต้นจั่น ทั้งจุดชมวิวห้วยไฮ ปั่นจักรยานชมรอบหมู่บ้าน ถ่ายรูปที่สะพานทุ่งนา รวมไปถึงอาหารที่โฮมสเตย์แต่ละหลังจัดเตรียมให้ด้วยเมนูขันโตก หรือใครอยากจะลงมือทำกับข้าวเองก็ได้เช่นกัน ซึ่งเมนูส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารพื้นบ้านที่สามารถหาวัตถุดิบได้ตามรั้วบ้าน อาทิเช่น ผักลวกจิ้ม น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกซอกไข่ เป็นต้นเรียกว่ามื้อนี้ทุกคนอิ่มหนำสำราญกัน
โดยในครั้งนี้ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสามร้อยยอด ได้พาผู้นำ และตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านที่เดินทางไปเพื่อนำความรู้ และประสบการณ์จากการได้ไปพักที่โฮมสเตย์ของหมู่บ้านนาต้นจั่น มาประยุกต์ และปรับใช้ในพื้นที่ของแต่ละหมู่บ้านให้เหมาะสม สามารถกลับมาพัฒนาต่อยอดหมู่บ้านของตนเองให้ประสบความสำเร็จได้
“นักเดินทาง”ได้มีโอกาสสอบถามตัวแทนชาวบ้านหลายคนบอกว่าหลังจากที่ได้ตั้งใจฟังถึงการบอกเล่าถึงอุปสรรคนานับประการ กว่าที่จะมาเป็นโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่นที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก จากป้าเสงี่ยม ทำให้มีแรงบันดาลใจและคิดว่าอยากจะกลับไปทำให้หมู่บ้านของตนเองกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยว และคนทั่วไปด้วย
เอาเป็นว่าโครงการที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสามร้อยยอด นำพาคณะเดินทางไปศึกษาดูงานถึง จังหวัดสุโขทัย ในครั้งนี้เชื่อว่าจะนำประสบการณ์มาพัฒนาปรับใช้ 3 หมู่บ้าน ทั้งตำบลไร่เก่า หมู่ที่ 1 บ้านตาลเจ็ดยอด หมูที่ 2 บ้านสามร้อยยอด และหมู่ที่ 8 บ้านไร่เจริญ ในอำเภอสามร้อยยอด ให้กลายเป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี “ดึงภูมิปัญญา-วิถีชีวิต เพิ่มรายได้ชุมชนอย่างยั่งยืน
เรื่อง/ภาพ ฐิติชญา แสงสว่าง/สามร้อยยอด
“นักเดินทาง”เรียบเรียง
ประจวบโพสต์นิวส์ / Prachuppostnews