แฟนพันธุ์แท้ดาราศาสตร์ แห่ชม “ดาวอังคารสีแดง เคียงดวงจันทร์สีแดง” บนฟากฟ้า
แฟนพันธุ์แท้ดาราศาสตร์ แห่ชม “ดาวอังคารสีแดง เคียงดวงจันทร์สีแดง” บนฟากฟ้า
เมื่อเวลา 03.20 น.วันวันที่ 28 ก.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชม 3 ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา หอดูดาวภูมิภาคตะวันออก ที่ใกล้กรุงเทพฯที่สุด ประกอบด้วย 1.ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ที่ระยะห่าง 57.8 ล้านกิโลเมตร พบมองเห็นดาวอังคารสีส้มแดงสุกสว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และมีขนาดใหญ่กว่าปกติ สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ตลอดทั้งคืน 2.จันทรุปราคาเต็มดวง ช่วงหลังเที่ยงคืน ของวันที่ 27 ก.ค.คราสเต็มดวงกินเวลา 1 ชั่วโมง 43 นาที เวลา 02.30 – 04.13 น. เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และ 3.ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง 406,086 กิโลเมตร พร้อมมองเห็น“ดาวอังคารสีแดง เคียงดวงจันทร์สีแดง” อีกด้วยนั้น
ทั้งนี้หอดูดาวฯ ได้จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลา 18.30 น. วันที่ 27 ก.ค.61 จนถึงเวลา 04.30 น.วันที่ 28 ก.ค.61 ให้ได้ชม 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ได้รับความสนใจ จากประชาชน จำนวนมากกว่า 500 คน ที่ทยอยเข้าชมปรากฏการณ์ตลอดทั้งคืน เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯมหานคร
โดยหอดุดาวฯได้ตั้งกล้องดูดาวขนาดใหญ่ รวมกว่า 10 ตัวให้ได้ชม โดยเฉพาะกล้องใหญ่ขนาด 72 ซม.ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ มีคนเข้าคิวรอส่องดาวอังคารยาวเหยียด และในระหว่าง รอชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดเคียงดาวอังคารสีแดงนั้น ได้จัดให้ชมภาพยนตร์ระบบสุริยะจักรวาลด้วย
นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ และที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า “กิจกรรมได้รับความสนใจจากประชาชน โดยช่วงหัวค่ำท้องฟ้าปิด จนกลางดึกประมาณ 23.00 น.ฟ้าเริ่มเปิด พระจันทร์เริ่มเข้าเงาเมาตามที่นักดาราศาสตร์คำนวณหลังเที่ยงคืน และ ในเวลา 01:24 น. ดวงจันทร์เริ่มแตะเงามืดของโลก เป็นการเริ่มต้นจันทรุปราคาบางส่วน เวลาประมาณ 01:45 น. บังครึ่งดวง เวลา 02:15 น. และเริ่มบังหมดทั้งดวง ตั้งแต่เวลา 02:30 น. ดวงจันทร์เคลื่อนเข้าไปในเงามืดลึกที่สุด และในเวลา 03:22 น. จากนั้นจันทรุปราคาเต็มดวง สิ้นสุดขอบดวงจันทร์ด้านบนเริ่มสว่างขึ้นในเวลา 04:13 น. รวมเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 43 นาที ดาวอังคารจะโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ที่ระยะห่าง 57.6 ล้านกิโลเมตร จากระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 225 ล้านกิโลเมตร เป็นการโคจรใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ดาวอังคารจะสว่างมาก และมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ สังเกตเห็นได้หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดทั้งคืนไปจนถึงรุ่งเช้าในวันถัดไป ซึ่งในวันดังกล่าวทางหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบเฉลิมพระชนมพรรษาฉะเชิงเทรา ได้จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์เช่นเคย”นายวรวิทย์ กล่าว
ภาพ-ข่าว / มานิตย์ สนับบุญ จ.ปราจีนบุรี
Prachuppostnews / ประจวบโพสต์นิวส์