SCOOP : “OTOP 5 ดาว” ผ้าขาวม้า ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผ้าทอมือป่าละอู
SCOOP : สืบทอดงานหัตถกรรม “ผ้าขาวม้า” ผลิตภัณฑ์ฝ้ายทอมือ “OTOP 5 ดาว” กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผ้าทอมือป่าละอู
เป็นที่ทราบกันดีว่า “ผ้าขาวม้า” เป็นผ้าที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ และสีสันที่สวยงาม ที่ได้รับการพัฒนา ทำให้ผู้คนนิยมซื้อหาเป็นของฝากเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผ้าขาวม้าทอมือของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผ้าทอมือ ผ้าขาวม้าป่าละอู ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่ม ที่ยังคงสานต่ออาชีพนี้มานานกว่า 22 ปี จนได้รับการการันตีให้เป็นสินค้าโอทอป ระดับ 5 ดาว
เสียงกี่กระตุกทอผ้าที่กระทบกัน ยังดังอยู่ไม่ขาดสาย ภายในอาคารหลังเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผ้าทอมือ ผ้าขาวม้าป่าละอู หมู่ 1 บ้านเฉลิมเกียรติพัฒนา ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นของ ชาวบ้านที่นี่ซึ่งยังคงสานต่ออาชีพทอผ้าไทยที่มีอัตลักษณ์ต่อไป แม้การเดินทางจะยาวนานถึง 22 ปีแล้วก็ตาม
ป้าละม่อม ขวัญเรือน วัย 67 ปี ซึ่งรับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผ้าทอมือ ผ้าขาวม้าป่าละอู มาตั้งแต่เมื่อปี 2538 เล่าให้ฟังว่า ในช่วงแรกร่วมกับสมาชิกเพียง 6 คน รวมตัวตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมา ด้วยหวังว่าจะเป็นอาชีพเสริม เนื่องจากชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ มีอาชีพทำการเกษตร และปศุสัตว์ แต่ต้องประสบกับปัญหา ช้างป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ออกมากัดกินพืชไร่ ได้รับความเสียหาย ทำให้รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว
จุดกำเนิดของอาชีพทอผ้าของคนที่นี่ เริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมภาค 8 จังหวัดสุพรรณบุรี นำกี่กระตุกชุดแรกมามอบให้จำนวน 5 ตัว พร้อมเส้นด้าย และส่งเจ้าหน้าที่มาสอนการทอผ้าขาวม้า ให้กับสมาชิกรุ่นแรก ซึ่งมีปัญหาอุปสรรคล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด บางครั้งผ้าขาวม้าที่ทอแล้วขายไม่ได้ เพราะไม่มีช่องทางการตลาดทำให้สมาชิกไม่มีรายได้ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ทางกลุ่มไม่มีเงินไปซื้อด้ายมาทอผ้าใหม่ เพราะต้องรอขายผ้าที่ทอแล้วให้ได้ก่อน แต่สมาชิกทุกคนก็ยังต่อสู้ จนข้ามผ่านปัญหามาถึงวันนี้….วันที่ทุกคนมีรายได้อย่างน้อยเดือนละ 5,000-6,000 บาท ทางกลุ่มเองก็มีเงินทุนหมุนเวียนนับแสนบาท
ตลอดระยะเวลา 22 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผ้าทอมือ ผ้าขาวม้าป่าละอู ได้รับการสนับสนุนจากทั้งกรมพัฒนาชุมชน อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ฯลฯ และมีการพัฒนาฝีมือ เพื่อให้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ อย่างต่อเนื่อง ทั้งลวดลายที่มีการคิดค้นออกแบบเอง การต่อยอดจากผ้าขาวม้าที่ทอด้วยผ้าฝ้าย ไปเป็นผ้ายกดอก ผ้าพันคอ และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อีกหลากหลายชนิด เพื่อเพิ่มมูลค่า และไม่ลืมที่จะออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาชุมชน ที่มีความสวยงามโดดเด่นด้วยการนำช้างป่าละอูมาเป็นสัญลักษณ์ เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ซื้อไปเป็นของฝาก ทำให้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผ้าทอมือ ผ้าขาวม้าป่าละอู กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่วนราคาผ้าขาวม้าที่บรรจุกล่องสวยงามก็มีราคาเพียง 180 บาทเท่านั้น
นางเพียร มากอิ่ม สมาชิกกลุ่มทอผ้าฯ นางสายลม จันทร์กระจ่าง สมาชิกกลุ่มทอผ้าฯ กล่าวว่าทุกวันนี้ผ้าทอมือของที่นี่จะวางจำหน่ายอยู่ในพื้นที่ทำการของกลุ่มฯในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ โดยสมาชิกในกลุ่มได้ช่วยกัน นำไปจำหน่ายตามงานต่างๆในพื้นที่อำเภอหัวหิน บ้างเป็นครั้งคราว แต่จะไม่ค่อยออกไปร่วมงานจำหน่ายในพื้นที่อื่นๆโดยเฉพาะในกรุงเทพ เพราะติดขัดเรื่องระยะทางและค่าใช้จ่าย รวมทั้งสมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ แต่ด้วยคุณภาพของผ้าที่สวมใส่สบาย ในราคาไม่แพง ก็ทำให้เกิดกระแสบอกต่อแบบปากต่อปาก และเผยแพร่ทางเฟสบุคส์และเว็ปไซด์ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบงานแฮนด์เมด แวะเวียนเข้าไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ไม่ขาดสาย และที่สร้างความภูมิใจให้กับผู้คนที่นี่มากที่สุดก็คือได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์สุดยอด 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ สินค้าโอทอประดับ 5 ดาวเมื่อปี 2559
แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการที่ สมาชิกในกลุ่มทอผ้าแห่งนี้ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งการปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง และการทอผ้าไว้ตัดเสื้อผ้าใส่เองในครัวเรือน ซึ่งสมาชิกในกลุ่มทอผ้ายังบอกด้วยว่าการทอผ้ายังเป็นการได้ออกกำลังกายอีกทางหนึ่งเพราะต้องใช้ทุกส่วนของร่างกาย
ป้าละม่อม ขวัญเรือน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผ้าทอมือ ผ้าขาวม้าป่าละอู กล่าวว่าจากจุดเริ่มต้นที่มีกี่เพียง 5 ตัว ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 20 ตัว แต่ด้วยจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ 12 คน ส่วนใหญ่เป็นสูงอายุและอยากให้กลุ่มทอผ้าที่นี่เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความพร้อมในด้านอุปกรณ์การทอผ้าอยู่แล้ว จึงมีการส่งต่อวิชาชาให้กับลูกหลานคนรุ่นใหม่ เริ่มสืบทอดต่อ เพื่ออนุรักษ์อาชีพผ้าทอป่าละอูเอาไว้ จึงเปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่สนใจได้มาศึกษาเรียนรู้การทอผ้าป่าละอู ซึ่งมีสมาชิกของกลุ่มหมุนเวียนสอนให้แบบไม่หวงวิชา ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนสามารถทอผ้าได้ออกมาเป็นผืน ซึ่งก็มีเด็กส่วนหนึ่งที่ให้ความสำคัญมาเรียนรู้ฝึกทอผ้าในช่วงปิดเทอม และวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และนำผ้าไปจำหน่ายได้ ทางกลุ่มฯ ก็จะจ่ายเงินให้กับเด็กๆเหล่านั้น เพื่อนำไปใช้จ่ายในครอบครัวถือเป็นการฝึกอาชีพให้กับเยาวชนไปในตัวด้วย
เด็กหญิงอภิชญา วันเต็ม นักเรียนชั้นมัธยมปี 3 โรงเรียนอนันต์ ป่าละอู ยอมรับว่าครอบครัวมีฐานะยากจน จึงอยากทำงานหารายได้เพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่ ในช่วงปิดเทอม และเมื่อทราบว่า ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผ้าทอมือ ผ้าขาวม้าป่าละอู เปิดโอกาสให้นักเรียน เข้ามาฝึกการทอผ้า จึงไปสมัครและเริ่มใช้เวลาว่างมาฝึกฝน จนสามารถทอผ้าขาวม้าได้สำเร็จเป็นผืนแรก ถึงแม้จะต้องใช้เวลานานนับปีถึงจะมีความชำนาญ และผ้าทอแต่ละกี่จะใช้เวลานานถึง 4 เดือนเต็มก็ตาม แต่เจ้าตัวก็รู้สึกภูมิใจ เพราะมีรายได้จากการ ผ้าทอเฉลี่ยกี่ละ 2,000-2,500 บาท ซึ่งก็ได้นำเงินที่ได้จากน้ำพักน้ำแรง ไปเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน และแบ่งส่วนที่เหลือฝากเก็บไว้ในธนาคาร เป็นทุนการศึกษาในอนาคต
ผ้าชาวม้า ถือเป็นอาภรณ์ที่อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังได้รับความนิยม เพราะเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ ที่ใช้ได้ในหลากหลายกิจกรรม และในปัจจุบันมีการออกแบบลวดลายที่ทันสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งศาสตร์ แห่งสีสัน และศิลปะแห่งลายผ้าไทยนำมาผสมผสานกันอย่างกลมกลืน โดยสิ่งสำคัญที่กลุ่มวิสาหกิจชุมอนุรักษ์ผ้าทอมือ ผ้าขาวม้าป่าละอู คือการรักษาเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เพื่อให้การทอผ้ายังคงเป็นอาชีพที่สืบทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน
อภิชาติ หงษ์สกุล ผู้สื่อข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รายงาน