อช.แก่งกระจาน ปรับปรุงถนนขึ้น”พะเนินทุ่ง” มีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย

ติดตามข่าว ประจวบโพสต์
  • 14
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
    14
    Shares

อช.แก่งกระจาน ปรับปรุงถนนขึ้น”พะเนินทุ่ง” มีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย

กัมปนาท ขันตระกูล เรื่อง/ภาพ

คนจังหวัดเพชรบุรีมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยที่ปรับปรุงถนนขึ้นเขาพะเนินทุ่งเป็นถนนคอนกรีต โดยฝ่ายทีเห็นด้วยเพราะเชื่อว่าจะอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว  ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยเพราะกังวลว่าไม่เห็นด้วยการปรับปรุงถนนขึ้นเขาพะเนินทุ่งเป็นถนนคอนกรีต เพราะเกรงว่าไม่สามารถคุมพฤติกรรมของคนและรถได้  ยันการสร้างถนนเป็นความต้องการของคนไม่สัตว์ป่า และธรรมชาติ ต้องการให้ซ่อมแซมถนนเดิมให้ดีที่สุด ส่วนหัวหน้าอุทยานแห่งแก่งกระจานแจงมีความจำเป็นต้องสร้างเพราะถนนชำรุดเสียหายหนักสร้างเสร็จจะส่งผลดีในการอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาป่า

จากกรณีที่เกิดฝนตกหนักในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2561 ทำให้ถนนสายบ้านกร่าง – เขาพะเนินทุ่ง ระยะทาง 21 กิโลเมตรเศษ ซึ่งเป็นถนนสายเดียวที่นักท่องเที่ยวใช้เดินทางขึ้นไปชมทะเลหมอกบนยอดเขาพะเนินทุ่ง และสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ชำรุดเสียหายอย่างหนักจุดที่ดินถล่ม แลนด์สไลด์หินถล่มทั้งฝั่งผนังและฝั่งด้านล่างขอบข้างถนนในทิศทางลาดชันและจุดที่มีการยุบตัวเป็นพื้นที่ผิวดินเดิมมีหลายแห่งเกินขีดความสามารถซ่อมแซมด้วยแรงงานคนหรือเครื่องจักรขนาดเล็ก และการตั้งงบประมาณซึ่งเป็นเงินปกติของหน่วยงานเพื่อซ่อมแซมทำได้ยาก อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทำโครงการปรับปรุงถนนสายดังกล่าว โดยสร้างเป็นถนนคอนกรีต เพื่อความคงทนถาวร  ไม่ต้องมาซ่อมแซมบ่อยครั้ง  ถนนมีความกว้าง 4 เมตร เท่าของเดิม และมีการควบคุม รถยนต์ให้ขึ้นลงเป็นเวลาเป็นทางเดียวกัน เพื่อลดอันตรายเนื่องจากถนนแคบรถยนต์สวนทางกันไม่ได้ 

สำหรับถนนขึ้นเขาพะเนินทุ่งที่ปรับปรุงจะสร้างเป็นถนนคอนกรีตกว้าง 4 เมตร มีระยะทาง 21.9 กิโลเมตร  แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 ตั้งแต่บริเวณบ้านกร่างไปถึงกิโลเมตรที่ 18 ระยะทางประมาณ 3.4 กิโลเมตรงบประมาณในการก่อสร้าง 8.8 ล้านบาท  มี การสร้างถนนคอนกรีต รางระบายน้ำ ฝายน้ำข้าม เพื่อลดการกัดเซาะของดินในบริเวณลำธาร ส่วนที่ 2 เป็นการก่อสร้างถนนผิวจราจรคอนกรีตขึ้นไปพะเนินทุ่งตั้งแต่กิโลเมตรที่ 18 ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 36 ระยะทางประมาณ 18.5 กิโลเมตร งานประมาณ 79 ล้านบาท  รวมงบประมาณทั้งหมด 88,590,000 บาท โดยได้มีการเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาไปแล้ว แต่ขณะนี้ผู้รับเหมายังไม่ได้เข้าดำเนินการ ซึ่งสัญญามีกำหนดระยะเวลา 560 วัน คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้ได้ประมาณเดือนเมษายน พ.ศ.2563

โครงการนี้ผู้ที่เห็นด้วยมีความเห็นว่าเป็นถนนเก่าที่ปรับปรุงปรุงใหม่  ไม่ใช้ถนนตัดใหม่ ปรับปรุงเสร็จจะอำนายความสะดวก สร้างปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว รวมทั้งใช้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลผืนป่า และสัตว์ป่าได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งถนนเดิมที่สร้างมีตั้งแต่ ปี พ.ศ.2529 ถึงปัจจุบันนานก 32 ปี ก็เป็นถนนลาดยาง  ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยเพราะวิตกกังวลว่าเมื่อปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตรถจะวิ่งเร็ว และจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสัตว์ป่าจะถูกรถเหยียบตาย

นายบัญชา แก้วลอยมา ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวแก่งกระจาน – ลุ่มน้ำเพชรบุรี  กล่าวว่าในส่วนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็มีความเห็นด้วย เพราะถนนต่าง ๆ สร้างมานานแล้ว ชำรุดทรุดโทรมลงไปแล้วก็มีถนเส้นใหม่ก็จะมีความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพิ่มมากขึ้น ถนนคอนกรีตดีว่าถนนธรรมดาคือถนนคอนกรีตจะทำให้การเซาะของพื้นผิวได้อยากกว่า ปกติเมื่อฝนตกลงมาจะเซาะพื้นผิวถนนแต่ถ้าเป็นถนนคอนกรีตจะมีการบดอัดได้ดีว่า

นายนิวัต มั่นหมาย ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่าในฐานะภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในถนนซึ่งสามารถขึ้นไปเขาพะเนินทุ่งได้อย่างสะดวก เราเห็นด้วยเพื่อจะให้เกิดความปลอดภัย ที่นักท่องเที่ยวเองก็ดี เจ้าหน้าที่ก็ดีสามารถเดินทางขนไปบนเขาพะเนินทุ่งได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น มีความสะดวกในการที่จะส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเป็นระบบมากขึ้น เพราะว่าตอนนี้ต้องยอมรับว่าในช่วงที่เกิดภาวะฝนตกมาก หรือภาวะที่เกิดมีปัญหาเรื่องอุทกภัยบางส่วนในถนนสายพะเนินทุ่ง ถ้ามีการปรับประถนนในช่วงนี้ก็จะช่วยทำให้ในเรื่องของการเดินทางที่จะสามารถให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปได้อย่างสะดวก มีความปลอดภัย

ด้าน นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่าสาเหตุที่ต้องปรับปรุงถนนขึ้นเขาพะเนินทุ่งเป็นถนนคอนกรีตว่าเนื่องจากผิวจราจรเดิมที่เคยเป็นถนราดยางชำรุดเสียหาย และถูกน้ำกลัดเซาะ และมีมีรถวิ่งขึ้นลงบ่อย ทำให้มีการตะกุยหน้าถนนจนถึงเดินเดิม ทำให้เกิดการยุบตัวของพื้นถนนแล้วก็เกิดการสไลด์ ซึ่งมีความจำเป็นต้องทำผิวจราจร โดยส่วนหนึ่งเราจำเป็นนะต้องคงสภาพถนนนี้ไว้ในระยะยาวเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ต้องเดินทางมาปฏิบัติในพื้นที่ ส่วนที่สองเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูจะมีเรื่องปัญหาการซ่อมแซมบำรุงอยู่ตลอด ตัวเจ้าหน้าที่ต้องคอยขนวัสดุ พวกหิน ทราย ปูน  เข้ามาซ่อมแซม ตามจุดที่ถนนยุบตัว  ถ้าเรายังคงดำเนินการอยู่อย่างนี้ ก็จะอาจเป็นปัญหาให้กับการลาดตะเวนป่า เพราะต้องแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งมาดูแลในเรื่องการซ่อมแซม รวมถึงในเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เราต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่มาคอยเข็นรถ มาคอยลากจูงรถขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัยในพื้นที่ อัตรากำลังส่วนนี้จริง ๆแล้วต้องไปเดินป่า แต่ต้องมาปฏิบัติงานในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว การสรร้างถนนเป็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแต่พอควร เพื่อให้คนสามารถสัญจรได้ ขณะเดียวกันก็ลดภาระหน้าที่ที่ต้องไปดูแลในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่วนเส้นทางนี้เป็นเส้นทางหลักสำคัญ ที่เป็นเส้นทางในการขนส่งและบำรุงที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปลาดตะเวนในพื้นที่ลึกชายแดน หากมีความเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ก็เป็นอุปสรรค์อย่างหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้ รวมถึงหากเกิดมีปัญหาเหตุฉุกเฉินเช่นเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือนักท่องเที่ยวเอง  การจะขึ้นจะลงก็มีความเสี่ยง อาจจะไม่สามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ทัน อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราคำนึกถึง และที่สำคัญคือปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การที่เราปล่อยให้ผิวจราจรของถนนชำรุดอยู่เกิดการกัดเซาะทำลายด้วยความรุนแรงเนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชัน และมีปริมาณน้ำฝนมาก ผลที่ออกมาก็คือเกิดตะกอนไหลหลง ไปสู่แม่น้ำ ลำธาร ท้องน้ำ ดังที่เราเห็นที่ฝายหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานที่ กจ.4 บ้านกร่าง จะมีตะกอนดินไหลมารวมกันตอนนี้ท่วมสูงกว่าสันฝายแล้ว ซึ่งอันนี้เองก็เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เราต้องระมัดระวัง ที่จะต้องช่วยกันดูแลว่าในการท่องเที่ยวจะต้องไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม การที่ถนนเปิดผิวจราจรอยู่อย่างนี้ รวมถึงการที่ทางน้ำข้ามให้รถลงไปวิ่งอย่างนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อท้องน้ำลำธาร คือการวางไข่ของปลา รวมถึงแมลงและสิ่งมีชีวิต ๆ ที่อยู่ในน้ำด้วย จึงจำเป็นจะต้องดำเนินการ

ขณะเดียวกันนายจำลอง วิไลเลิศ กรรมการกลุ่มคนรักษ์ป่าแก่งกระจาน กล่าวว่าผมไม่เห็นด้วยกับการทำถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 18 กิโลครึ่ง เพราะป่าธรรมชาติเวลาทำถนนดีเข้าไป มีผลกระทบหลายอย่าง เราควบคุมพฤติกรรมคนกับรถไม่ได้ว่าจะให้เบาเท่านั้นเท่านี้มีป้ายติด 60 นะ มุมนี้ 30 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงนะมันเป็นไปไม่ได้ เวลามีคนเข้าไปมากมลพิษก็ตามมาว่าจะเป็นขยะ มลพิษเสียง มลพิษทุกทุกอย่างเลย เราควบคุมไม่ได้ พื้นที่ป่าแก่งกระจาน มันเปาะบางเกินที่จะไปกันมากเกิน เพราะเราควบคุมคนไม่ได้ ผมไม่เห็นด้วย แต่การซ่อมบำรุงโอเคครับ บางจุดที่สำคัญ จุดทางขึ้นที่เป็นอันตรายต่อรถ ซ่อมบำรุงเพราะผมเห็นด้วยครับ ควรจะตั้งงบประมาณซ่อมบำรุงทุกปี ไม่ใช่ว่าไม่ซ่อม การทำใหม่ถ้าคุณไม่มีงบซ่อมบำรุง ที่เขาพูดว่าจะมีจะมีเนี่ย แต่ไม่เคยซ่อมกันสักที สมัยก่อนเป็นยางแอสฟั้นพอไม่ซ่อมบำรุงถนนก็พัง ตนไม่เห็นด้วยขอคัดค้าน

นายธีรวัจน์ นามดวง เลขาธิการองค์กรอนาคตเพชรบุรี กล่าวว่าจริง ๆ บอกก่อนว่าเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่เราต้องใช้หัวใจฟัง ต้องฟังกันด้วยหัวใจจริง ๆ  การสร้างถนนมันเป็นเรื่องความต้องการส่วนเดียวของมนุษย์เรา สัตว์ป่าและธรรมชาติทั้งหมดไม่ได้ประโยชน์อะไร ? เลย แล้วความแปลกแยกที่มันเกิดขึ้นในผืนป่าในระบบนิเวศน์ ไม่ว่าเราจะมองมันในมุมไหน ? ก็ตาม การเรียกร้องหรือการสร้างถนนมันเป็นการเรียกร้องของมนุษย์เราส่วนเดียวเพราะฉะนั้นวันนี้ฟังเรื่องนี้คงต้องใช้หัวใจฟัง ผมเห็นด้วยเรื่องของการที่จะซ่อมแซม ที่เห็นด้วยเป็นความจำใจที่ต้องเห็นด้วยเพราะว่ามันมีถนนเดิมอยู่แล้ว แต่มันพัง เมื่อมันพังก็ต้องซ่อมแซมเพราะเวลาพังมันมีผลกระทบกับคนที่ขึ้นไป ผมไม่ได้เห็นด้วยนะกับคนที่ขึ้นไปสักคนเดียวในลักษณะของการเอารถยนต์ขึ้นไป จริง ๆ ถ้าเราจะไปเที่ยวป่าต้องมีสำนึกในการที่จะไปเที่ยวป่า ไม่ใช่ไปเที่ยวป่าแล้วมีสำนึกในการไปเที่ยวห้าง คือการเอาความสะดวกสบายให้กับตัวเองฝ่ายเดียว อันนี้เป็นเรื่องที่ผมเข้าใจว่าโดยระบบจะถามถึงเรื่องสำนึก หรือเรื่องวิจารณญาณมันคงถารมกันไม่ได้ หรือถามได้มันก็ไม่มีคำตอบที่ดี แต่ว่าโดยสภาพความเป็นจริงแล้ว  ในภาวะจำเป็นหรือจำยอม โดยการซ่อมแซมก็อาจจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นเรื่องความปลอดภัยของมนุษย์

“สำหรับความวิตกกังวลในเรื่องสัตว์ป่าจะถูกรถทับตาย  การป้องกันสัตว์วิ่งข้ามถนนแล้วโดนรถชนเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ด้วยกลไกการจัดสร้างสิ่งที่ขวางลดความเร็ว อีกทั้งทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังใช้เจ้าหน้าที่คอยควบคุมดูแลให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามมาตรการและกฎต่าง ๆที่วางไว้อย่างเข้มงวด”หน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าว

ประจวบโพสต์นิวส์/Prachuppostnews

  • 14
    Shares