อ.ทับสะแก จุดประกายทำกระทงกะลาสายปีแรก”แจกฟรี”
อ.ทับสะแก จุดประกายทำกระทงกะลาสายปีแรก”แจกฟรี”
อำเภอทับสะแก ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานประเพณีลอยกระทงกะลาสายเป็นครั้งแรกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยการนำวัสดุที่มีมากในท้องถิ่นอย่างกะลามะพร้าวมาทำกระทง กะลาสาย ลอยไปตามสายน้ำคลองทับสะแกเพื่อขอขมาแม่คงคา โดยในปีนี้ชาวบ้านและเยาวชนร่วมกันทำกระทงกะลาแจกประชาชน-นักท่องเที่ยวฟรีจำนวน 3,000 ใบ
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 นายปรีดา สุขใจ นายอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พาสื่อมวลชน เดินทางไปยังบ้านพักของ นายนวัช ดวงจินดา อายุ53ปี ปราชญ์ชาวบ้านทับสะแกด้านงานศิลปะ ในหมู่บ้านทุ่งกอก ตำบลทับสะแก อำเภอทับสะแก เพื่อเยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าการทำกระทงจากกะลามะพร้าว เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชน -นักท่องเที่ยวฟรี ในงานประเพณีลอยกระทงกะลาสายทับสะแก ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ณ คลองทับสะแก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งก็พบว่าภายหลังคัดเลือกวัสดุ และทดลองจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นายนวัช ปราชญ์ชาวบ้าน ได้เดินหน้าทำกระทงกะลามะพร้าวไปกว่า 800 ใบแล้ว โดยในวันนี้ยังมีการสาธิตการทำกระทงกะลามะพร้าวให้กับชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมครั้งนี้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมไปถึงการอนุรักษ์สืบสานประเพณีลอยกระทง
นายปรีดา สุขใจ นายอำเภอทับสะแก กล่าวว่า อำเภอทับสะแกเป็นอำเภอที่มีพื้นที่การปลูกมะพร้าวมากที่สุดของประเทศไทย ดังนั้นจึงมีกะลามะพร้าวเหลือใช้เป็นจำนวนมากเช่นกัน อีกทั้งที่ผ่านมากก็พบว่ากะลามะพร้าวจากทับสะแกเป็นสินค้าที่จังหวัดต่างๆสั่งซื้อเพื่อนำไปทำเป็นกระทงสาย
ดังนั้นหลายฝ่าย ทั้งอำเภอทับสะแกและหน่วยงานในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลทับสะแก เทศบาลตำบลทับสะแก สภาวัฒนธรรมอำเภอทับสะแก และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จึงมีความคิดร่วมกันในการต่อยอดการใช้วัสดุที่มีมากในท้องถิ่นนำมาสร้างความเชื่อมโยงเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวและสืบสานประเพณีอันดีงามของไทย และไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยปีนี้จึงเป็นปีแรกที่จัดงาน ประเพณีลอยกระทงกะลาสาย ณ คลองทับสะแก คลองสายหลักที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวทับสะแก
สำหรับกะลาที่นำมาทำเป็นกระทง จะเป็นกะลาที่เหลือจากการทำน้ำกะทิ ขอมาจากชาวบ้าน และเกษตรกร ส่วนเทียนได้มาจากวัดต่างๆ ในอำเภอทับสะแก โดยเป็นเทียนที่เหลือจากการใช้ไว้พระ และเทียนพรรษาที่ใช้ไม่หมด ทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ และเป็นการนำของเหลือใช้มาสร้างคุณค่าอีกต่อหนึ่งด้วย
ในปีแรกนี้ตั้งใจจะทำกระทงจำนวน 3,000 ใบ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้นำไปลอยกันฟรีๆ โดยในวันลอยกระทง จะมีการเนรมิตพื้นที่กลางคลองทับสะแกด้วยกระทงกะลา เป็นรูปหัวใจ ภายในเป็นเลข 10 หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 สื่อความหมายว่า ชาวทับสะแกรักในหลวง ส่วนพื้นที่ริมสองฝั่งคลองจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มาลอยกระทงกะลาสาย ไปตามลำคลองทับสะแก สำหรับกระทงจากกะลา ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หากจมน้ำลงไปก็จะเป็นแหล่งพักพิงของสัตว์น้ำ สำหรับในปีนี้เป็นปีแรก ประชาชนอาจจะยังสื่อสารไม่ทั่วถึง แต่ในปีต่อๆไปจะพยายามสืบสานต่อเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของชาวอำเภอทับสะแก
ด้านนายนวัช ดวงจินดา อายุ53ปี ปราชญ์ชาวบ้านทับสะแกด้านงานศิลปะ กล่าวว่า อำเภอทับสะแกมีกะลามากที่สุด อยากผลักดันให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน เชื่อว่างานลอยกระทงกะลาสายที่อำเภอทับสะแก จะสวยงามไม่แพ้ที่ใด สำหรับการคัดเลือกกะลาจะต้องแข็งแรง
ส่วนวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน นำเทียนมาหลอมเป็นน้ำเทียนเทลงในกะลา ซึ่งสามารถใช้ได้ 2 ซีก จากนั้นจะปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที ก่อนจะนำไส้เทียน ซึ่งทำจากด้ายดิบชุบน้ำเทียนจนแข็งแล้วนำมาตัดเป็นท่อนๆละ 2 นิ้ว วางลงไปตรงกลาง จากนั้นจึงทิ้งให้น้ำเทียนแข็งตัว ประมาณ 2 ชั่วโมงก็สามารถนำไปใช้ได้ ภายหลังทดลองจนแน่ใจ ขณะนี้ตนได้ทำกระทงไปแล้วกว่า 800 ใบ รวมทั้งตอนนี้กำลังเร่งเตรียมไส้เทียน สำหรับนำไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านและเยาวชนได้ร่วมกันทำกระทงกะลาสายด้วย สำหรับกระทงโดยกะลา 1 ใบ จะใช้น้ำเทียนประมาณ 1 กระบวย เมื่อนำไปจุดจะให้เปลวไฟ หรือเปลวเทียนประมาณ 2 ชั่วโมง มั่นใจว่าเมื่อนำไปลอยเป็นกระทงกะลาสายที่จะงดงามที่สุด
เอาเป็นว่าปีนี้ในหลายพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการจัดงานประเพณีลอยกระทง เพื่อร่วมสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของไทย และอีกสถานที่ซึ่งกำลังจุดปะกายในการลอยกระทงสาย เป็นครั้งแรกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือที่คลองทับสะแก อำเภอทับสะแก ในคืนวันที่ 22 พ.ย. ที่จะถึงนี้
ประจวบโพสต์นิวส์/Prachuppostnews