“ออร่าฟาร์ม” ขอนแก่นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ ตอบโจทย์ นทท.-กลุ่มไมซ์
“ออร่าฟาร์ม” ขอนแก่นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ ตอบโจทย์ นทท.-กลุ่มไมซ์
“ทีเส็บ” นำคณะผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ MICE City Summit 2018 จาก 13จังหวัด เข้าชม“Aura Farm” ศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งขอนแก่น และเที่ยวชมสวนสัตว์ขอนแก่น
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ได้นำคณะผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการMICE City Summit 2018 ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ย.2561ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอวานิ ขอนแก่น โฮเตล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เข้าชม “Aura Farm”ศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งขอนแก่น และเที่ยวชมสวนสัตว์ขอนแก่น
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า นอกจากการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการทำงานไมซ์ในระดับจังหวัดในห้องประชุมของโรงแรมแล้ว ยังได้นำคณะออกไปเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมไมซ์ในท้องถิ่นที่หลากหลาย และชมเส้นทางโครงการ 7 Theme ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ เพื่อเป็นการพัฒนาสินค้าและบริการ ไมซ์ ซึ่งทีเส็บร่วมกับจังหวัดพัฒนาเส้นทางกิจกรรม ในหัวข้อ”จัดกิจกรรมแบบไมซ์ จัดอย่างไรให้โดนใจผู้ซื้อ” นอกจากบ้านดงบัง เขาสวนกวาง หมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีดีเด่นระดับประเทศ แล้วในเส้นทางที่น่าใจอีกแห่งก็คือ ออร่าฟาร์ม และสวนสัตว์ขอนแก่น
นายประเสริฐ โพธิ์ไพฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ ออร่า ฟาร์ม ให้การต้อนรับและนำคณะเข้ารับฟังการบรรยายถึงประวัติความเป็นมาของพื้นที่ พร้อมบอกเล่าถึงแนวคิดว่าใช้เวลาจัดสินใจอยู่นานกว่า 5 ปีจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำและกลับมาพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ จากเดิมเป็นพื้นที่ที่ครอบครัวทำปศุสัตว์เลี้ยงโคนมทั้งระบบและการผลิตอาหารสัตว์ ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาให้พื้นที่แห่งนี้เป็นทั้งศูนย์เรียนรู้ และการท่องเที่ยวเชิงเกสรควบคู่กันไป เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้สัมผัสและเรียนรู้ภาคการเกษตรสมัยใหม่ ที่ยังมีทางเลือกมากกว่าการปลูกและส่งขายผ่านพ่อค้าคนกลาง มุ่งเน้นการปฏิบัติจริงและเรียนรู้จากการลงมือทำ ให้คนรุ่นใหม่รักในถิ่นฐานบ้านเกิดและทำให้ภาคการเกษตรของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งต้องยอมรับว่าในภาคอีสานโดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร แต่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งเมื่อเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน การจะไปปรับเปลี่ยนก็คงเป็นเรื่องยากไม่น้อย ดังนั้นเราเองจึงต้องทำให้เห็นจริงและเลือกใช้เยาวชนเป็นตัวกลางสำคัญ ในการปรับเปลี่ยนภาคการเกษตรของไทยที่ต้องไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และคงต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้เทรนด์ของการท่องเที่ยวทางการเกษตรมีแนวโน้มเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงอยากให้พื้นที่แห่งนี้ของครอบครัว ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต จึงเป็นที่มาของ” ออร่า ฟาร์ม”ศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตร ปศุสัตว์ และการท่องเที่ยวควบคู่กันไป
“ผมเองเริ่มต้นจากการพลิกฟื้นผืนดิน 15 ไร่ ซึ่งเคยเป็นไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ถูกปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตร การปศุสัตว์ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ออกแบบคล้ายกับฟาร์มในต่างประเทศ ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้แม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้ามไป”
นายประเสริฐ โพธิ์ไพฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ ออร่า ฟาร์ม กล่าวอีกว่าในขณะที่การวางธีมของ ออร่าฟาร์ม เป็นการเล่าเรื่องราวผ่านรถไฟเมื่อในอดีตที่วิ่งจากสถานีรถไฟเขาสวนกวาง เปรียบในยุคนั้นต้องยอมรับว่ายังไม่เจริญมากนัก จึงนำแนวคิดเรื่องของรถไฟวิ่งจากชนบทเข้าสู่เมือง โดยเริ่มต้นที่สถานีออร่าฟาร์ม ซึ่งเปรียบเสมือนว่าที่นี่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ภาคการเกษตรแบบดั้งเดิม และนำไปสู่การเกษตรยุคใหม่ที่ยั่งยืน
ที่สำคัญพื้นที่ติดถนนมิตรภาพ ด้านหน้าฟาร์ม มีการจำลองเมืองคอสวิลล์ ของอังกฤษมาไว้ที่นี่ มีการจัดวางพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ทั้งจุดบริการอาหาร ที่ให้บริการทั้งอาหารอีสาน อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว น้ำดื่ม ชา และกาแฟ รวมไปถึงสเต็ก ซึ่งวัตถุดิบนั้นมาจากการฟาร์มออแกนิกของฟาร์มทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีพื้นที่จุดพักคอย ลานจอดรถ และให้บริการทัวร์ ทั้งมีอาคารอเนกประสงค์หรือโดมขนาดใหญ่ 2 ชั้น ไว้คอยให้บริการ มีห้องน้ำรวมกว่า 30 ห้อง
โดยสิ่งที่เป็นจุดเด่นของเราก็คือ สถานีรถไฟออร่าฟาร์ม ซึ่งนำขบวนรถไฟโบราณที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี เป็นแบบใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงกับขบวนรถจริง มาจัดแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพและสัมผัสถึงมนต์เสน่ห์ของ”ออร่าฟาร์ม”
ซึ่งในส่วนของ ออร่าฟาร์ม มีกิจกรรมหลักๆ ที่เยาวชนจะได้เข้ามาสัมผัสจะแบ่งเป็นฐาน 3 การเรียนรู้ คือ 1. การปลูกผัก ภายใต้คอนเซ็ปต์ปลูกต้นไม้ 100 ต้น ต้องรอด 100 ต้น เป็นการเริ่มต้นปลูกฝังให้เยาวชนรักการปลูกต้นไม้และผักที่ลงมือปลูกด้วยตัวเอง 2. ฐานโคนม เป็นการให้เยาวชนและผู้ที่เข้ามาเรียนรู้รับรู้ว่าน้ำนมหนึ่งหยดมาได้อย่างไร สอนการรีดนมวัว และ 3. นอกจากนั้นยังมีฐานการแปรรูปน้ำนม ที่จะได้เรียนรู้ว่าน้ำนมสามารถแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง เช่น การสอนทำชีส ไอศกรีม วิปครีม หรือแม้กระทั่งความแตกต่างของนมสดแบบพาสเจอไรซ์และยูเอชที เป็นต้น นอกจากนี้บริเวณด้านหลังนักท่องเที่ยวยังสามารถเที่ยวชมและเรียนรู้การเลี้ยงโคนม และแปลงผักออแกนิกได้อีกด้วย สำหรับอัตราค่าเข้าชมโซนท่องเที่ยว ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 30 บาท ส่วนโซนศูนย์การการเรียนรู้ฐานละ 100 บาทและฝึกปฏิบัติจริง
เส้นทางกิจกรรมเรียนรู้สถานที่ต่างๆในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่ทางทีเส็บ ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ที่นำผู้เข้าร่วมประชุมไมซ์ซิตี้ ในครั้งนี้ได้เดินทางไปศึกษาเรียนรู้ ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญและคงตอบโจทย์ในหัวข้อ”จัดกิจกรรมแบบไมซ์ จัดอย่างไรให้โดนใจผู้ซื้อ”
……วันนี้ นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มีนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพของจังหวัดด้านต่างๆในอนาคต รวมถึงการมุ่งก้าวขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวและไมซ์ของภูมิภาค ผ่านการสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น มีการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวให้พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจกลุ่มไมซ์ที่เข้ามาทำธุรกิจ ครอบคลุมทั้งการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมไมซ์
ประจวบโพสต์นิวส์/Prachuppostnews
เรื่อง/ภาพ อภิชาติ หงษ์สกุล