“ผ้าทอเขาเต่า” อาชีพพระราชทาน สู่ ‘ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย’ คุณภาพ
“ผ้าทอเขาเต่า” อาชีพพระราชทาน สู่ ‘ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย’ คุณภาพ (ชมคลิป)
ศูนย์หัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า ในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นโรงทอผ้าต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานอาชีพให้กับกลุ่มสตรีบ้านเขาเต่า จากงานอดิเรก ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวสร้างความยั่งยืนทั้งความเป็นอยู่ และความสุขทางใจ อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเจริญให้กับเมืองหัวหิน จวบจนถึงวันนี้ชาวบ้านเขาเต่า จึงยังคงมุ่งมั่นที่จะสานต่อการทอผ้าให้คงอยู่สืบไป
เสียงกี่กระตุกที่ดังอย่างต่อเนื่องภายใน ศูนย์หัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า ที่จะสืบสานการทอผ้าฝ้ายอันเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานอาชีพให้กับกลุ่มสตรีบ้านเขาเต่า
(ชมคลิป)
ทุกวันนี้ ป้าอมลวรรณ เอี่ยมสำอางค์ ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า ในวัย 70 ปี และสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ยังคงมุ่งมั่นถักทอผ้าภายในอาคาร ที่ตั้งอยู่บนพื้นดินที่เป็นโฉนดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทั้งสองพระองค์พระราชทานอาชีพทอผ้าให้กับชาวเขาเต่า
นับเป็นความภาคภูมิใจเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อป้าอมลวรรณ ได้รับพระราชทาน “เหรียญคนขยัน” จากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีอยู่เพียง 13 เหรียญ ซึ่งทุกวันนี้ป้าอมลวรรณ ก็ยังคงเก็บเหรียญนี้ไว้กับตัว เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวว่า พระองค์ท่านไม่เคยละทิ้งชาวเขาเต่าไปไหน
ศูนย์ทอผ้าบ้านเขาเต่า ตั้งอยู่ในซอยหัวหิน 101 อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้าหลัก ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้าฝ้ายที่นี่คือผ้าขาวม้า 9 เส้น อันหมายถึงรัชกาลที่ 9 และมีลวดลายที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของหมู่บ้านเขาเต่าก็คือผ้าลายเต่า นอกจากนี้ก็ยังมีลวดลายอื่นๆ ที่มีความงดงามและบ่งบอกถึงความเป็นไทย อาทิ ลายดอกเกตุ ลายบานชื่น ลายดาหลา และลายแก้วสุวรรณสาร นอกจากผ้าทอยกดอกแล้วยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพะผ้าขาวม้า 9 เส้น ที่เรียกได้ว่าเป็นผ้าสารพัดประโยชน์อย่างแท้จริง
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านเขาเต่า เป็นผ้าที่เต็มไปด้วยคุณภาพ และได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ผ้าทอเขาเต่าสวมใส่สบาย แม้จะเป็นผ้าฝ้ายแต่มีความเงางามเหมือนผ้าไหม ด้วยกรรมวิธีพิเศษเฉพาะของที่นี่เพียงที่เดียว ทำให้ผ้าทอเขาเต่าได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าประจำจังหวัดที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาจะได้ยินเสียงกี่กระตุกดังขึ้นตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันศูนย์หัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่าได้เปิดเป็นศูนย์ข้อมูลในการให้ความรู้ด้านการทอผ้าเนื่องในพระราชดำริ แก่ผู้สนใจ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และด้วยเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์สืบสานการทอผ้าซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน นับเป็นความโชคดีของชาวบ้านที่นี่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เพราะอาชีพทอผ้าของพวกเขา คือ อาชีพพระราชทาน ที่สร้างความยั่งยืนทั้งความเป็นอยู่ และความสุขทางใจ
ชาวบ้านเขาเต่าในอดีต ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรม แต่หากเป็นช่วงหน้ามรสุม ก็ไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงมีแนวคิดส่งเสริมให้ชาวบ้านในละแวกนี้ ได้เรียนรู้การ”ทอผ้า” เพื่อเป็นอาชีพเสริม ทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้าด้วยกี่กระตุก ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้จัดหาอาจารย์จากจังหวัดราชบุรี มาฝีกสอนถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า ย้อมสีผ้า การขึ้นลาย การตัดเย็บ เพื่อให้หญิงสาวชาวบ้านมีอาชีพเสริมเลี้ยงครอบครัว พร้อมกับจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้าทุกอย่างให้กับกลุ่มชาวบ้าน จนกลายเป็นอาชีพที่ลูกหลานในหมู่บ้านเขาเต่าสานต่อมาจนถึงทุกวันนี้ โครงการนี้จึงนับเป็นโครงการในพระราชกรณียกิจที่ส่งเสริมงานหัตถกรรมให้กับชาวบ้านเป็นแห่งแรก ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงริเริ่มขึ้น
ประจวบโพสต์นิวส์ / Prachuppostnews