“พบลูกช้างป่า” ได้รับบาดเจ็บในป่าเขาจ้าว อ.ปราณบุรี
“พบลูกช้างป่า” ได้รับบาดเจ็บในป่าเขาจ้าว อ.ปราณบุรี
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี พบลูกช้างป่าถูกลูกหลงจากช้างป่าตัวผู้ต่อสู้แย่งชิงตัวเมียจนขาหลังบาดเจ็บยืนเองไม่ได้ ในป่าเขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประสานนายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าตรวจสอบเพื่อดูอาการแล้ว
วันที่ 19ธันวาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทัศเนศวร์ เพชรคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหน่วยแพรกตะลุย หมู่ที่6 ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า พบลูกช้างป่า อายุประมาณ 5-6 ปี ได้รับบาดเจ็บบริเวณสะโพกและขาหลังด้านขวา ไม่สามารถลุกยืนเองได้ โดยเกิดจากเหตุการณ์ช้างป่าตัวผู้ชนกันเพื่อแย่งตัวเมีย แล้วไปเหยียบลูกช้างป่าจนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว จากนั้นจึงได้รายงานให้ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ทราบข้อมูลเบื้องต้น พร้อมประสาน สัตวแพทย์หญิงกชพร พิมพ์สิน นายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทีมสัตวแพทย์ลงพื้นที่เพื่อตรวจดูอาการบาดเจ็บของลูกช้างป่า โดยมี ร.ต.อ.เอกพจน์ ทิมทอง รองสารวัตร(สอบสวน)สภ.ปราณบุรี,พ.ต.ท.เสกสิทธิ์ จันทร รอง ผกก.ป.สภ.ปราณบุรี,พ.ต.ท.วิศรุต สุขแท้ ผบ.ร้อย ตชด. ที่145, ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ชุดปฏิบัติการบ้านแพรกตะคร้อ หมวด รว.1 และนายเพชรพร โกมลฤทธิ์ กำนัน ต.เขาจ้าว ร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุด้วย
โดยจุดเกิดเหตุ พบเป็นร่องเขาลึกใกล้ชายป่า มีลูกช้างป่า อายุ 5-6 ปี ลักษณะอ้วนท้วนสมบูรณ์ นอนตะแครงขวา ขาหลังขวามีอาการบวม ไม่สามารถลุกขึ้นยืนเองได้ โดยลูกช้างพยายามตะเกียดตะกายเพื่อให้สามารถลุกขึ้นได้และส่งเสียงร้องตลอดเวลา ตามตัวลูกช้างไม่พบว่ามีบาดแผลที่เกิดจาของมีคม หรืออาวุธใดๆ ทั้งนี้พื้นที่โดยรอบตรวจพบรอยเท้าช้างป่าจำนวนมาก และร่องรอยการหักโค้นของต้นไม้ใกล้เคียงกับลูกช้างป่านอนอยู่เป็นวงกว้างเกือบ 1 ไร่
นายทัศเนศวร์ เพชรคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหน่วยแพรกตะลุย ได้ออกมาช่วยชาวบ้านผลักดันโขลงช้างป่าจำนวน 18 ตัว ที่เตรียมจะเข้ากินสับปะรดแปลงที่อยู่ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรีประมาณ 1กิโลเมตร แต่ช้างป่าตัวผู้หลายตัวเกิดต่อสู้กันที่บริเวณชายป่าเพื่อแย่งชิงช้างป่าตัวเมีย เนื่องจากในช่วงนี้เป็นฤดูผสมพันธุ์ จึงทำให้ลูกช้างป่าตัวดังกล่าวถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะถูกเหยียบที่สะโพกหรือขาหลัง โดยเตรียมปรึกษาหารื้อกับทีมสัตวแพทย์และผู้บังคับบัญชากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชว่า จะดำเนินการเช่นไรหลังจากนี้ หากจะทำการรักษาลูกช้างป่าในป่าบริเวณดังกล่าวจะต้องเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวยังมีโขลงช้างขนาดใหญ่ถึง 17 ตัวที่วนเวียนอยู่ใกล้ๆและส่งเสียงร้องให้ได้ยินตลอดเวลา และเครื่องมือที่จะรักษาลูกช้างป่าอาจไม่สะดวก หรือหากจะมีการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าออกจากบริเวณดังกล่าวเพื่อนำไปรักษาตัวต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน หรืออาจจะเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงและมีความพร้อมเรื่องเครื่องมือนั้น ก็จะต้องมีการประสานทีมสัตวแพทย์ และเรื่องต่างๆให้พร้อม เนื่องจากการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่ามีความเสี่ยงสูงเพราะอาจจะตายได้
ด้านสัตวแพทย์หญิงกชพร พิมพ์สิน นายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำการตรวจลูกช้างป่าเบื้องต้น พบว่า ลูกช้างป่ามีอายุ 5-6 ปี ยังไม่สามารถระบุเพศที่ชัดเจนได้ เพราะไม่มีงา ส่วนสะโพกและขาหลังขวาบาดเจ็บไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่ลูกช้างป่ายังมีแรงดิ้นรน พยายามที่จะลุกขึ้นให้ได้ ส่วนบาดแผลอื่นไม่พบ แต่เริ่มมีผิวหนังถลอกจากการดิ้นรนบ้างแล้ว ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ขาที่บาดเจ็บจะแตกหักหรือแค่หลุด จะต้องมีการเอ็กซ์เรย์อย่างละเอียดอีกครั้ง โดยในวันนี้สิ่งที่ทำได้ คือการฉีดยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะเพื่อแก้อักเสบให้กับลูกช้างป่า จำนวน 2 เข็มเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งการปล่อยให้ลูกช้างป่านอนนานกว่านี้จะเป็นอันตรายถ้าไม่สามารถลุกขึ้นได้เพราะจะเกิดแผลกดทับบริเวณซีกขวาที่ลูกช้างนอนทับอยู่ได้ อีกทั้งระบบภายในถูกกดทับ จะเกิดอาการท้องอืดและตายได้ในที่สุด ซึ่งเริ่มพบว่าลูกช้างเริ่มตดและขี้เป็นระยะ เพื่อระบายแก๊สในกระเพาะอาหารหากบ่อยไว้นานจะยิ่งเป็นอันตราย
ประจวบโพสต์นิวส์/Prachuppostnews