โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช”
โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช”
ในหลวง ร.10 โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ เรือฟริเกตสมรรถนะสูงหรือ เรือพิฆาต ที่ต่อจากอู่ต่อเรือเกาหลีใต้ จะเข้าประจำการ 7 ม.ค. นี้ ว่า “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” จากเดิมที่จะใช้ชื่อว่า “เรือหลวงท่าจีน” สร้างความปลาบปลื้มให้กำลังพลเป็นอย่างมาก
วันที่ 4 มกราคม 2562 เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam ของวาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร รายงานว่า ในหลวง รัชกาลที่ 10 โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ เรือฟริเกตสมรรถนะสูงหรือเรือพิฆาต ที่ต่อจากอู่ต่อเรือแถวหน้าของ บริษัทแดวู ชิปบิลดิ้ง แอนด์ มารีน เอนจิเนียริ่ง (DSME) ประเทศเกาหลีใต้ โดยใช้งบประมาณลำละเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะขึ้นระวางเรือประจำการในวันที่ 7 มกราคม นี้ ว่า “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” จากเดิมที่จะใช้ชื่อว่า “เรือหลวงท่าจีน” โดย พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. จะเป็นประธานในพิธีต้อนรับที่ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ
ทั้งนี้ การพระราชทานชื่อใหม่ได้สร้างความปลาบปลื้มให้กำลังพลประจำเรือ และกองทัพเรืออย่างยิ่ง เพราะเดิมทีตามธรรมเนียมของกองทัพเรือ การตั้งชื่อเรือฟริเกต จะใช้ชื่อ แม่น้ำ เช่น เรือหลวงเจ้าพระยา เรือฟริเกต ชั้นเจียงหู่ จากจีน เป็นต้น
สำหรับเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำนี้ เป็นการพัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ในการต่อเรือ มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล กำลังพล 136 นาย
โดยสามารถทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 6 ขึ้นไป มีโครงสร้างเรือแข็งแรง โอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบและการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ และสามารถตรวจการครอบคลุมทุกมิติ ทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกับเรือ อากาศยาน และหน่วยบนฝั่ง และสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ ทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังสามารถปฏิบัติการรบร่วม โดยผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ให้สามารถปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) ได้แก่ ร.ล. จักรีนฤเบศร เรือฟริเกต ชุด เรือหลวงนเรศวร เรือคอร์เวต ชุด เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งสามารถรบร่วมกับ เครื่องบินกองทัพอากาศ ตามบทบาทหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมาย ซึ่งเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จะทำหน้าที่ควบคุมการปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือมีแผนจะต่อเรือฟริเกตสมรรถนะสูงเอง อีก 1 ลำ โดยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จาก แดวู ชิปบิลดิ้งฯ อู่ต่อเรือของประเทศเกาหลีใต้
Cr.ภาพ-ข่าว เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam